หมอจุฬาซัดกันนัว หมอยง ตอบวาทกรรมหมอธีระฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้วติดเชื้อภูมิขึ้นสูง

15 ก.ย. 2564 | 01:21 น.

หมอยงตอบคำถามวาทกรรมหมอธีระประเด็นฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วติดเชื้อภูมิขึ้นสูงเร็ว ชี้ฉีดเพื่อลดการป่วยตาย และความรุนแรงของโรค ระบุการตอบสนองภูมิต้านทานและการคงอยู่ของภูมิต้านทาน มีความจำเป็นต้องมีการศึกษา เพื่อป้องกันติดเชื้อซ้ำ

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
โควิด-19 วัคซีน
หนึ่งในหน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัย นอกจากการเรียนการสอน งานบริการแล้ว จะต้องทำงานวิจัยให้เกิดองค์ความรู้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ 
การศึกษาวิจัยเรื่อง covid-19 จึงเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในภาวะวิกฤต
การติดเชื้อแล้วกระตุ้นภูมิต้านทาน เป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่ต้องเรียนรู้ และต่อยอดงานวิจัยเพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ ในการดูแลประชาชน 
ตอบคำถาม “วาทกรรม” หมอธีระ 
1.ตกลงฉีด 2 เข็มนั้นไปทำไม 
วัคซีนทุกชนิดลดการป่วยตาย และความรุนแรงของโรคได้ การให้วัคซีน 2 เข็มในประเทศไทย ลดความรุนแรง การป่วยตาย โปรดศึกษาการติดเชื้อของทั่วโลก เช่น อเมริกา อิสราเอล ฉีดวัคซีนครอบคลุม  ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้แบบสมบูรณ์ 

2.หาตัวที่ฉีด 1-2 เข็ม แล้วลดโอกาสติดเชื้อได้ ลดป่วยลดตายได้ จะดีกว่าไหม 
วัคซีนทุกตัวที่ใช้อยู่ในประเทศไทยขณะนี้ สามารถลดการติดเชื้อ ลดป่วย ลดตาย  ภูมิต้านทานจะลดลงตามกาลเวลา ไม่ว่าวัคซีนตัวไหน ลดความรุนแรงของโรคได้ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้สมบูรณ์ 
โรค covid-19 ระยะฟักตัวสั้น ดังนั้นการลดโอกาสติดเชื้อ จึงเป็นไปได้ยาก แต่สามารถลดการตาย และอาการหนักได้ 

 ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ
3.ถ้าฉีดแล้วติดเชื้อคนติดเชื้อคงไม่หวังอยากได้ภูมิสูงปรี๊ดหรอก แต่คนติดเชื้อคงอยากรู้ว่าเขาป่วยแค่ไหน จะตายหรือไม่ตายต่างหาก และหากเลือกได้เขาคงไม่อยากติดเชื้ออย่างแน่นอน 
แน่นอนคงไม่มีใครอยากติดเชื้อ ทุกคนจึงมีความต้องการวัคซีน การฉีดวัคซีนแล้ว จะต้องปฏิบัติตนในการป้องกันการติดเชื้อ มากกว่าที่จะหวังผลจากวัคซีนไม่ให้ติดเชื้อ 
การศึกษาผลของภูมิต้านทานหลังการติดเชื้อ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และความจำเป็นในการให้วัคซีนหลังการติดเชื้อ   
การตอบสนองภูมิต้านทานและการคงอยู่ของภูมิต้านทาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษา เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ  
โรคอุบัติใหม่จำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดด้วยงานวิจัย 
การสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยการวิจัย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือ การสร้างความสับสนให้กับประชาชน ควรบอกสิ่งที่มีประโยชน์และแนวปฏิบัติตามองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่มีอย่างถูกต้อง ทันกับเหตุการณ์

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบพบว่าประเด็นดังกล่าวที่หมอยง ต้องออกมาโพสเฟสบุ๊กล่าสุดนี้มาจากก่อนหน้านี้ที่ หมอยง ได้โพสข้อความโดยระบุว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วมีการติดเชื้อ การกระตุ้นภูมิต้านทานจะขึ้นเร็วมาก ภายหลังการติดเชื้อไม่กี่วันภูมิขึ้นสูงเป็นแบบ booster effect หรือที่เรียกว่า Anamnestic response จึงสามารถกำจัดไวรัสได้เร็ว อาการจึงน้อยลง ดีกว่าการได้ monoclonal antibodies ที่มีขาย ถึงแม้ว่าวัคซีนจะเป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น การติดเชื้อไวรัสจะเป็นสายพันธุ์เดลตา (คนไข้ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา) ระดับภูมิต้านทานที่สูงขึ้นนี้ บ่งบอกชัดเจนว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้น หรือฉีดวัคซีนเพิ่มอีก 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
หลังจากนั้น รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยยกให้เป็น "วาทกรรม" เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วติดเชื้อภูมิคุ้มกันขึ้นสูงมาก ตามที่หมอยงนำมาโพสตอบคำถามข้างต้น แต่โพสดังกล่าวของหมอธีระ ได้ถูกลบออกไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา