โควิด-19 หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงติดเชื้อกับยอดฉีดวัคซีนที่ยังไปไม่ถึงไหน

13 ก.ย. 2564 | 06:22 น.

หญิงตั้งครรภ์เมื่อติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสที่จะอาการหนักและเสี่ยงเสียชีวิตได้ เเต่เมื่อดูยอดการฉีดวัคซีนโควิดให้กลุ่มนี้พบว่าเข็มที่ 1 คิดเป็น 11.2 %  เข็มสอง 3.6 % จากทั้งหมด 500,000 คน

ทำไมคนท้องมีโอกาสเสียชีวิตได้มากถ้าติดโควิด นั่นก็เพราะน้ำคร่ำในท้องแม่จะมีมากสุดในช่วง 8 เดือน ระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เกิดภาวะปอดแฟบในคนท้องได้ตามปกติ เพราะน้ำคร่ำจะไปดันทำให้ระบบการหายใจของคนท้องจะยากกว่าคนปกติ เมื่อติดเชื้อโควิด จึงมีโอกาสที่จะอาการหนักและเสี่ยงเสียชีวิต

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบสถิติหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่หากพิจารณายอดผู้ติดเชื้อในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เดือน ส.ค. เพียงเดือนเดียว มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 1,506 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 47 ราย  เฉลี่ยเสียชีวิตรายวัน 1-2 ราย  จังหวัดที่พบมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 488 คน  รองลงมา สมุทรสาคร จำนวน 399 คน และ ปทุมธานี  101 ราย

ข้อมูลจากการวิเคราะห์ของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563 ถึง 13 ส.ค.2564 พบว่า "หญิงตั้งครรภ์" ติดเชื้อโควิด มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 1.85 % สูงเป็น 2.5 เท่าของคนทั่วไป ในจำนวนผู้เสียชีวิตนี้ประมาณครึ่งหนึ่งยังไม่ได้คลอดบุตร

ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของเด็กมีประมาณ 1.8 % ซึ่งอาจเสียชีวิตก่อนคลอดหรือหลังคลอด

รวมถึงหญิงตั้งครรภ์มีอัตราการคลอดก่อนกำหนดมากกว่าปกติ ส่วนอัตราการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกพบประมาณ 11 % ซึ่งอาจเกิดจากการถ่ายทอดโดยตรงหรือจากการสัมผัสหลังคลอด

ทั้งหมดนี้ฉายภาพให้เราเห็นถึงความสำคัญของการเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เพื่อรักษาชีวิตทั้งแม่และเด็ก ที่ไม่ต่างจากกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์ต้องฉีดวัคซีนโควิดเพราะถ้าติดเชื้อแล้วจะมีอาการหนัก มีโอกาสเข้าไอซียูมากกว่าคนไม่ตั้งครรภ์ถึง 5 เท่า

ถ้าเทียบระหว่างตั้งครรภ์ด้วยกันคนที่ตั้งครรภ์แล้วติดเชื้อโควิดกับคนที่ตั้งครรภ์แล้วไม่ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่ามาก แถมทารกที่ออกมามีโอกาสคลอดก่อนกำหนด มีโอกาสที่ทารกจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่อายุน้อยๆหรือตั้งแต่แรกเกิด เพราะฉะนั้นดีที่สุดคือ หญิงตั้งครรภ์ต้องไม่ติดเชื้อหรือถ้าได้รับเชื้อก็จะต้องทำอย่างไรให้อาการน้อยที่สุด จะต้องมีภูมิต้านทานทั้งแม่และลูก วัคซีนโควิดมีความปลอดภัยสูง

อีกทั้งอาการข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนจริงๆแล้ว อาการทั่วไปจะน้อยกว่าคนที่ยังไม่ตั้งครรภ์ด้วยเพราะว่าภาวะตั้งครรภ์ทำให้ปฏิกิริยาต่อวัคซีนน้อยลง เมื่อได้รับวัคซีนหรือภูมิต้านทานเกิดขึ้นเร็วและจะถูกส่งไปยังสายสะดือถึงทารกในครรภ์จะยิ่งสูงมากขึ้นและภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะออกในน้ำนมแม่ด้วย ลูกออกมาก็กินนมแม่ได้รับภูมิต้านทานได้ด้วยป้องกันทั้งแม่เเละลูก

“วัคซีนที่ฉีดให้หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการศึกษามากที่สุดคือ mRNA ซึ่งในไทยเรามีบริการคือไฟเซอร์ ฉีดห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ระหว่างเข็ม1และเข็ม 2 และไม่ว่าจะเป็นวัคซันแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนเวค ซิโนฟาร์ม องค์การอนามัยโลกก็ให้การรับรองว่าใช้ได้ รวมทั้งการฉีดไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งเป็นสูตรที่ไทยใช้ก็สามารถสามารถใช้กับหญิงตั้งครรภ์ได้ หากอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรไฟเซอร์ก็เลือกวัคซีนชนิดนี้ แต่ถ้าหากว่าไม่มีไฟเซอร์ สามารถฮีดแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค หรือวัคซีนที่คนทั่วไปที่ไม่ตั้งครรภ์ฉีดได้”

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าววว่า วันนี้ติดตามข้อมูลการติดเชื้อโควิดทั่วประเทศพบว่าหญิงตั้งครรภ์มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 2% ของผู้ติดเชื้อ ฉะนั้นกระทรวงฯ จะรณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์เข้าถึงการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด จึงได้จัดให้เดือนนี้เป็นเดือนแห่งการรณรงค์หญิงตั้งครรภ์เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 "1 เดือน 1 แสนราย"

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันหาวิธีอย่างไรที่จะทำให้หญิงตั้งครรภ์ได้เข้าถึงการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ถือเป็นความท้าทาย

“ตอนนี้เราได้กำหนดให้ทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยดำเนินการให้มีการจัดวัคซีนไปยังศูนย์ที่เป็นทั้งโรงพยาบาล ที่รับฝากครรภ์ทั้งหมดรวมทั้งกรณีไปฉีดยังสถานที่จัดฉีด และการจัดฉีดเชิงรุก ถ้าหญิงตั้งครรภ์กรณีวอล์คอินก็ต้องฉีดได้เลย ดังนั้นเราจะดำเนินการเข้าถึงให้ได้สิ้นเดือนนี้ จะได้ฉีดวัคซีนหญิงตั้งครรภ์100, 000 รายให้ได้”

วัคซีนโควิดถือเป็นสิ่งสำคัญกับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ จากตัวเลขประมาณการณ์หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ควรได้รับการฉีดวัคซีนทั่วประเทศประมาณ 500,000 คน แต่ข้อมูลล่าสุด มีหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไป 55,757 คน คิดเป็น 11.2 %  ขณะที่มีหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนเข็มสองแล้ว 18,118 คน คิดเป็น 3.6 % เท่านั้นเอง

โควิด-19 หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงติดเชื้อกับยอดฉีดวัคซีนที่ยังไปไม่ถึงไหน