เช็ครายชื่อ 44 จังหวัดรับมือฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก

11 ก.ย. 2564 | 12:38 น.

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสาน 44 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก พร้อมเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุ"โกนเซิน" (CONSON)

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 44 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 11-14 ก.ย. 2564 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย 

 

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีพายุโซนร้อนกำลังแรง “โกนเซิน” ที่เตรียมขึ้นฝั่งเวียดนาม รวมไปถึงสภาพอากาศประเทศไทยที่มีร่องมรสุมพาดผ่าน ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่  โดยกรมฯได้ประสานแจ้งไปยัง 44 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 11-14 กันยายน 2564 
 

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้้าท่วมฉับพลัน และน้้าป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 2564 ได้แก่ 
- ภาคเหนือ 10 จังหวัด

  • แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด 

  • เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

- ภาคกลางและภาคตะวันออก 12 จังหวัด 

  • ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด

-ภาคใต้ 2 จังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ระหว่างวันที่ 11-14 กันยายน 2564 

  • ระนอง (อ.เมืองฯ กะเปอร์ สุขสำราญ) พังงา (อ.เกาะยาว ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง คุระบุรี ท้ายเหมือง)

ทั้งนี้ ได้กำชับให้จังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว จัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เฝ้าระวังปริมาณฝนสะสมโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมืองที่อาจได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งให้จัดเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ รถปฏิบัติการ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วม รวมถึงประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานพลเรือน ทหาร ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร และจิตอาสาเพื่อแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนทันทีที่เกิดภัย

 

 

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำเรื่องการแจ้งเตือนภัยให้เข้าถึงประชาชนรวดเร็วและทั่วถึง โดยใช้อุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่ ทั้งหอเตือนภัย หอกระจายข่าว และเครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม อีกทั้งสร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยผ่านทุกช่องทาง ทั้งสื่อสังคม ออนไลน์ วิทยุชุมชน หอเตือนภัย และหอกระจายข่าว เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยที่้อาจเกิดขึ้นในพื้นที่

 

สำหรับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศหรือคำเตือนขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง 

 

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุ"โกนเซิน" (CONSON) ซึ่งล่าสุดพายุโซนร้อนกำลังแรง “โกนเซิน” บริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง  คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองดานัง ประเทศเวียดนามในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ย. 64) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ

 

กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุ"โกนเซิน" (CONSON)

 

ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่าหากมีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินใจในแต่ละพื้นที่ สามารถติดตามสอบถามได้ที่สายด่วน 1182 หรือ เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา