บทเรียนจากคำพิพากษาฎีกา กับผู้ชุมนุมทางการเมือง (1)

08 ก.ย. 2564 | 07:00 น.

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาฎีกาที่ 5167/ 2563 ให้กับจำเลยที่เป็นแกนนำพันธมิตรฯ และผู้เข้าร่วมชุมนุมรวม 9 คนฟัง โดยศาลฎีาได้พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 7 นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, จำเลยที่ 8 นายอมร อมรรัตนานนท์ และจำเลยที่ 9 นายเทิดภูมิ ใจดี มีความผิดตามมาตรา 215 วรรคแรก(เดิม), 216 (เดิม),116(2)(3) ประกอบ มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 7-9 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 116(2)(3) ซึ่งเป็นกฎหมายบทหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 เดือน โดยไม่รอการลงอาญา หรือ รอการกำหนดโทษแต่อย่างใด
 

ส่วนจำเลยที่ 1-6 คือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสุริยะไส กตะศิลา ศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ อ.1877-1878/2558 เป็นกรรมเดียวกันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว จึงถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1-6 จึงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา มาตรา 39(4)

คดีดังกล่าวนี้ ถือเป็นบทเรียนที่น่าศึกษา สำหรับผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกคน เพราะเป็นการฟ้องจำเลยอันเนื่องจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยอ้างถึงการใช้สิทธิ เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ด้วยเจตนารมณ์การชุมนุมเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของ ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 135 คน เพื่อตัดอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในการตรวจสอบความผิด และเพื่อการนิรโทษความผิดทางการเมือง แก่รัฐบาลทักษิณ จนนำไปสู่การขับไล่รัฐ นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ที่เป็นนอมินีของ นายทักษิณ ชินวัตร ระหว่าง 25 พฤษภาคม- 3 ธันวาคม 2551 อันถือเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน
 

เหตุจากการชุมนุม 193 วัน ที่ต่อเนื่องกันโดยมิได้หยุดการชุมนุมแม้แต่วันเดียว โดยการปักหลักพักค้าง ตั้งเวทีปราศรัย ของกลุ่ม พธม. และอาจมีการเคลื่อนไหวไปชุมนุมในสถานที่ต่างๆ บ้าง แต่ก็มีเวทีหลักอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลแห่งเดียว จนสิ้นสุดการชุมนุม เมื่อ 3 ธ.ค.51 นั้น พนักงานอัยการ ได้เป็นโจทก์ฟ้องแกนนำและผู้ประสานงานเป็นจำเลยเป็นคดีอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.4925/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1877-1878 /2558
 

โดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่ 1, นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ 2, นายพิภพ ธงไชย ที่ 3, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ที่ 4, นายสมศักดิ์ โกศัยสุขที่ 5, นายสุริยะไส กตะศิลา ที่ 6 ในข้อหาความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ คดีได้ถึงที่สุดโดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 7114-7115/2561 ให้จำคุกจำเลยทั้งหกเพียง 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ซึ่งคดีนี้ จึงเป็นคดีที่เป็นเหตุให้เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ 5167/ 2563 ดังที่ศาลได้วินิจฉัยยกฟ้องจำเลยที่เป็นแกนนำและผู้ประสานงานทั้งหกนั่นเอง

ศึกษาจากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว ซึ่งอาจถูกนำมาเป็นแนวในคำวินิจฉัยของศาลในการพิจารณาคดี สำหรับคดีที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน ในการพิจารณาถึงความผิดของผู้ชุมนุมทุกกลุ่มการเมือง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่ว่าในฐานะแกนนำ ผู้ประสานงาน หรือผู้เข้าร่วมชุมนุมในบทบาทหรือสถานะต่างๆ แล้ว กรณีตามแนวคำพิพากษาของศาลที่หยิบยกมาศึกษานี้ น่าจะเป็นอุทธาหรณ์และบทเรียนเตือนผู้ที่คิดจะชุมนุมทางการเมืองทั้งหลาย ควรได้ตระหนักระมัดระวัง ศึกษาและเก็บรับบทเรียนในเรื่องนี้ให้ดี 
 

แม้ว่าท่านจะมีเจตนารมณ์ที่ดีต่อบ้านเมืองอย่างไร ทุ่มเทเสียสละ ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และผลประโยชน์ของชาติ ประชาชนอย่างไร หรือไม่ว่าท่านจะชุมนุมด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้ชุมนุมทุกคนมีโอกาสเข้าไปนอนในคุกด้วยกันได้ทั้งนั้น 
 

ไม่นับรวมถึงการชุมนุมในปัจจุบัน ที่ไม่รู้ว่าออกมาชุมนุมเพื่อประโยชน์ของใคร ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองอย่างไร ทั้งรูปแบบการชุมนุมก็ส่อไปในทางสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง ก่อเหตุความรุนแรง ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และภายใต้บังคับที่มี พรบ.การชุมนุมสาธารณะ ค้ำคอบวกกับ พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ และกฎหมายอื่นๆ ที่พร้อมจะเอาผิดผู้ชุมนุมได้มากยิ่งกว่าเดิมอีก จึงเป็นเรื่องที่ผู้ชุมนุมทั้งหลาย ควรศึกษาบทเรียนก่อนตัดสินใจ เพราะคนดีๆ มีฐานะทางสังคมมีความรู้ มีการศึกษาดี รวมถึงประชาชนโดยทั่วไป อาจกลายเป็นจำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกได้ง่ายๆ หากยังคึกคะนองและไม่สนใจกฎหมายบ้านเมือง
 

จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว สรุปสั้นๆ ให้เห็นเป็นบทเรียน และเป็นอุทธาหรณ์ให้นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ควรพิจารณาได้ดังนี้
 

1. แม้รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 63 บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะและเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก" ก็ตาม ศาลฎีกายังเห็นว่า การชุมนุมที่ไม่สงบหรือมีอาวุธย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองและย่อมต้องถูกจำกัดเสรีภาพ แม้จะยังมิได้มีกฎหมายเรื่องกรณีการชุมนุมในที่สาธารณะบัญญัติขึ้นใช้บังคับเป็นการเฉพาะก็ตาม 
 

และการปิดกั้นการจราจรก็ดี หรือการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี ทำให้ประชาชนสัญจรไปมาไม่สะดวก ส่งลูกไปโรงเรียนลำบาก ท่านเห็นว่า มิใช่การชุมนุมโดยสงบอีกด้วย เพียงเท่านี้ ผู้ชุมนุมทั้งหลายย่อมถูกจำกัดสิทธิในการชุมนุม และต้องกลายเป็นผู้กระทำผิดอาญา เมื่อปัจจุบัน มีกฎหมายบัญญัติเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ ผู้ชุมนุมทั้งหลาย ล้วนต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางอย่างเลี่ยงมิได้ 
ใครที่คิดจะชุมนุมทางการเมืองในยุคปัจจุบัน จึงต้องศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ เพราะการวินิจฉัยตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของศาลฎีกาดังกล่าว ให้น้ำหนักไปในทางที่มุ่งคุ้มครองประชาชนทั่วไป ยิ่งกว่าสิทธิ เสรีภาพของผู้ชุมนุม (อ่านตอนต่อไปฉบับหน้า)