อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า”ที่ระดับ 32.68 บาท/ดอลลาร์

08 ก.ย. 2564 | 00:29 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังผันผวนได้ หากนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึง ทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองเงินบาท จากการเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.68 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.62 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ในช่วงระหว่างวันเงินบาทอาจผันผวนได้ หากนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึง ทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองเงินบาท จากการเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ โดยรวม เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ Sideways ที่กว้าง

 

เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศ ที่ล่าสุดทาง ศบค. รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเริ่มออกมาเตือนให้ระวังการระบาดระลอกใหม่ในช่วงเดือนตุลาคม หากประชาชนเริ่มประมาทในการป้องกันตัวเองในช่วงการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดโดยรวมจะรอคอยผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป เนื่องจากจะเป็นการประชุมที่อาจมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับลดคิวอีและอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้ ทำให้แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ หรือ ยูโร จะยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน

 

ทั้งนี้ถ้าหากผู้ประกอบการมีความไม่มั่นใจต่อแนวโน้มค่าเงิน ก็สามารถใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options ในการเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินได้

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.75 บาท/ดอลลาร์

 

 

ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวมากขึ้น จากความกังวลว่า ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าจะเริ่มดีขึ้น แต่ก็อาจส่งผลกระทบให้ เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ กอปรกับ ผู้เล่นในตลาดยังมีความไม่แน่ใจในประเด็นการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ของ บรรดาธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งตลาดจะจับตาการประชุม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสฯ เพื่อจับสัญญาณแนวโน้มการทยอยปรับลดคิวอี

 

ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดได้กดดันให้ ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรหุ้นในกลุ่ม Cyclical ในขณะที่ หุ้นในกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ สไตล์เติบโตแข็งแกร่ง (Growth stocks) สามารถปรับตัวขึ้นได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดมองว่า ผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ จะได้รับผลกระทบน้อยหรือแทบไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจและปัญหาการระบาดระลอกใหม่ๆ

 

ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Dowjones ที่ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยหุ้นในกลุ่ม Cyclical ปรับตัวลดลง -0.76% ส่วน ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -0.34% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวก +0.07% ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงราว -0.50% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยผลการประชุม ECB ในวันพฤหัสฯ นี้ และมีการขายทำกำไรหุ้นออกมาบ้างก่อนการประชุมดังกล่าว

 

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ มีความเคลื่อนไหวที่คึกคักมากขึ้น หลังจากที่บอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลก ต่างปรับตัวสูงขึ้นราว 5-7bps นำโดยบอนด์ยีลด์ 10ปี ในฝั่งยุโรปที่ปรับตัวขึ้น ท่ามกลางความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดว่า ECB อาจเริ่มส่งสัญญาณทยอยปรับลดคิวอีลงในการประชุมวันพฤหัสฯ นี้ หลังปัญหาการระบาดก็เริ่มคลี่คลายลง

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง และตลาดการเงินก็ดูไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง นอกจากนี้ในฝั่งสหรัฐฯ แรงกระเพื่อมจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี ในฝั่งยุโรป ได้ช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้น 5bps สู่ระดับ 1.37% เช่นกัน

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน ความไม่แน่นอนของตลาดการเงิน รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 92.53 จุด ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโรได้ หากธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องในการประชุม ECB วันพฤหัสฯ นี้

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินอาจยังถูกกดดันด้วยภาวะระมัดระวังตัวของบรรดาผู้เล่นในตลาด ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสฯ โดยอาจเห็นแรงขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงได้บ้าง ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ยังมีโมเมนตัมหนุนอยู่จากภาวะระมัดระวังตัวของตลาด

 

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ (หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ที่ 32.77 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.64 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังคงปรับตัวขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.60-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด ทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ รายงาน Beige Book ของเฟด และข้อมูลการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนก.ค. ของสหรัฐฯ