จีนยัน “ซิโนแวคเข็ม 3” ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดเดลต้าได้

07 ก.ย. 2564 | 02:19 น.
อัพเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2564 | 18:19 น.

ผลวิจัยจากประเทศจีนชี้ วัคซีนซิโนแวคเข็ม 3 ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาได้กว่าสองเท่า ด้านไฟเซอร์ นอกจากยื่นขออนุมัติการใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นภูมิจาก FDA สหรัฐแล้ว ยังยื่นต่อองค์การยาแห่งอียู (EMA) อีกด้วย คาดได้รับไฟเขียวเร็ว ๆนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิง ผลการวิจัยจากประเทศจีน ว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วย วัคซีนซิโนแวค สามารถเพิ่มแอนติบอดีที่ค่อยๆ ลดลง ให้ดันสูงขึ้นมาได้ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้ช่วยลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันในระยะยาวต่อ เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้

 

ผลการศึกษาโดยสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences), มหาวิทยาลัยฟูตัน, บริษัทซิโนแวค และสถาบันจีนอื่นๆ ระบุว่า นักวิจัยไม่พบการทำงานของแอนติบอดีต่อต้านเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาในตัวอย่างที่เก็บจากผู้ที่เคยฉีด วัคซีนโคโรนาแวกซ์" ของบริษัทซิโนแวค ภายหลังฉีดวัคซีนดังกล่าวครบ 2 โดสเป็นเวลา 6 เดือน

จีนยัน “ซิโนแวคเข็ม 3” ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดเดลต้าได้                                                            

แต่สำหรับผู้ที่ได้รับ วัคซีนกระตุ้น (วัคซีนบูสเตอร์ หรือวัคซีนเข็มที่สาม) นั้น หลังจากที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ผ่านไปราว 4 สัปดาห์ จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตามากกว่า 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็ม

 

ทั้งนี้ ผลการวิจัยดังกล่าวจัดทำโดยใช้การวิจัยตัวอย่างจากผู้เข้าร่วมโครงการ 66 ราย โดยมีอาสาสมัคร 38 รายที่ได้รับวัคซีน 2 หรือ 3 โดส

 

ในปัจจุบัน หลายประเทศที่พึ่งพาวัคซีนของซิโนแวคเป็นหลักในช่วงก่อนหน้านี้ได้เริ่มฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ให้กับประชาชน โดยเลือกใช้วัคซีนจากชาติตะวันตกเป็นวัคซีนบูสเตอร์ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าประชาชนกลุ่มดังกล่าวจะต้องเคยได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 โดส

 

อย่างไรก็ตาม บางประเทศปฏิเสธที่จะใช้วัคซีนดังกล่าว โดยระบุว่ายังขาดข้อมูลด้านประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา

 

ด้านบริษัท ไฟเซอร์ ที่วัคซีนบูสเตอร์กำลังรอการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ได้มีการยื่นขออนุมัติจาก องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป หรือ EMA ด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างศึกษาข้อมูลประกอบการพิจารณา

 

EMA เปิดเผยวานนี้ (6 ก.ย.) ว่า กำลังประเมินข้อมูลเกี่ยวกับการใช้วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ที่พัฒนาร่วมกับบริษัท บิออนเทค ของเยอรมนี เป็นวัคซีนฉีดกระตุ้นภูมิต้านทาน หรือที่เรียกกันว่าวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับกลุ่มประชาชนผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดครบ 2 โดสแล้วเป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมา "ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า"

 

วันศุกร์ที่ผ่านมา (3 ก.ย.) โมเดอร์นา อิงค์ ผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 อีกรายจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่าทางบริษัทได้ยื่นขออนุมัติการใช้งานวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 อย่างมีเงื่อนไขต่อ EMA ด้วยแล้วเช่นกัน โดยจะใช้ปริมาณทั้งสิ้น 50 ไมโครกรัม ซึ่งวัคซีนของโมเดอร์นาและไฟเซอร์ชนิด 2 โดสนั้นใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ mRNA ทั้งคู่