กรมอนามัยไขข้อสงสัย สรุป “ข้อปฏิบัติร้านอาหาร” หลังนั่งกินในร้านได้

01 ก.ย. 2564 | 12:28 น.

กรมอนามัย แจงข้อปฏิบัติร้านอาหารและผู้ใช้บริการ หลังศบค.ปรับมาตรการ-คลายล็อกให้นั่งกินในร้านได้ ตั้งแต่ 1 ก.ย. เป็นต้นไป

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ ปรับมาตรการร้านอาหาร เปิดให้บริการ นั่งกินในร้านได้ โดยบังคับมาตรการนี้กับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งมีรายละเอียดมาตรการของแต่ละพื้นที่

 

ทางกรมอนามัย ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ปฏิบัติเข้มงวดตาม “มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร” หรือ Covid Free Setting อย่างเคร่งครัด โดยในส่วนของร้านอาหาร ต้องมี การประเมินสภาพแวดล้อม (Covid Free Environment) โดยมีเกณฑ์การประเมิน ดังนี้

 

1.Clean and Safe คือ ทำความสะอาดโต๊ะ ที่นั่ง ทันทีก่อน-หลังใช้บริการ และจัดทำป้ายที่แสดงถึงการทำความสะอาด, ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมและห้องน้ำทุก 1-2 ชั่วโมง และดำเนินการตามหลักสุขาภิบาลของร้านอาหาร, จัดอุปกรณ์รับประทานอาหารเฉพาะบุคคล, งดจัดบริการอาหารรูปแบบผู้บริโภคบริการตนเอง หรือบุฟเฟต์ และจัดบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำโต๊ะ

2.Distancing คือ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และโต๊ะรับประทานอาหาร 1-2 เมตร กรณีพื้นที่มีเครื่องปรับอากาศเว้นระยะระหว่างโต๊ะ 2 เมตร และหากพื้นที่จำกัด ต้องจัดโต๊ะเว้นระยะไม่ถึง 1 เมตร ให้ทำฉากกั้น แต่ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการระบายอากาศ, จัดพื้นที่ไม่ให้แออัด ไม่นั่งตรงข้ามกัน, ความหนาแน่นผู้ใช้บริการพื้นที่ใช้เครื่องปรับอากาศไม่เกิน 50% ส่วนพื้นที่เปิด (อากาศถ่ายเท) ไม่เกิน 75% และจำกัดระยะเวลารับประทานอาหารไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดการสังสรรค์

 

3.Ventilation คือ เปิดประตู หน้าต่าง หรือเดินระบบจ่ายอากาศสะอาดอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ก่อนเปิดและปิดระบบปรับอากาศ, มีการระบายอากาศและหมุนเวียนที่เหมาะสมต่อจำนวนคน, พื้นที่ปรับอากาศ ให้เปิดระบายอากาศในพื้นที่รับประทานอาหารทุก 1 ชั่วโมง และห้องน้ำควรมีระบบระบายอากาศที่ดี หรือเปิดพัดลมระบายอากาศในห้องน้ำตลอดเวลาที่ให้บริการ

 

นอกจากนี้ ได้มี มาตรการสำหรับผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ในการป้องการเชื้อโควิด-19 (Free Personnel and Covid Free Customer)

สำหรับผู้ให้บริการ มีข้อปฏิบัติ ดังนี้

  1. ต้องมีภูมิคุ้มกัน โดยต้องฉีดวัคซีนครบโดส หรือเคยติดเชื้อโควิด 1-3 เดือนนับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ
  2. ต้องไม่พบเชื้อ โดยต้องคัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยแอปพลิเคชัน Thai Save Thai (TST) หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ และจัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้พนักงานตรวจทุก 7 วัน
  3.  ป้องกันตนเองด้วยการปฏิบัติตนตามหลักการป้องกันการติดเชื้อตลอดเวลา (Universal Prevention-UP) และ DMHTT รวมทั้งต้องมีผู้รับผิดชอบ กำกับติดตามพนักงานทุกคน งดการรวมกลุ่มขณะพัก และ งดรับประทานอาหารร่วมกัน

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ในเดือนก.ย. 2564 นี้ ผู้ประกอบการสามารถเปิดร้านตามปกติ ไม่ต้องตรวจ ATK เป็นประจำ ให้ยึดมาตรการ DMHTT อย่างเข้มข้น ส่วนพนักงานไม่ต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ให้เตรียมการและเตรียมความพร้อมไว้ก่อนภายในเดือนก.ย.นี้ สำหรับการจะบังคับใช้ในอนาคตตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 เป็นต้นไป โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการด้านผู้ให้บริการ โดยให้พนักงานทุกคนฉีดวัคซีนครบโดสหรือมีประวัติการติดเชื้อมาก่อนไม่เกิน 3 เดือน คัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยเว็บไซต์ "ไทยเซฟไทย" หรือแอปพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด พร้อมจัดหา ATK ให้พนักงาน และตรวจ ATK ทุก 7 วัน มีผู้รับผิดชอบกำกับติดตามพนักงานทุกคน และงดการรวมกลุ่มหรือกินอาหารร่วมกัน

 

ส่วนมาตรการด้านผู้รับบริการ นั้น ให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยเว็บไซต์ "ไทยเซฟไทย" หรือแอปพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด ต้องมี “COVID free pass” ก่อนเข้าบริการ เฉพาะร้านที่มีเครื่องปรับอากาศ และสำหรับร้านอาหารแต่ละจังหวัดต้องปฏิบัติตามมาตรการหรือข้อกำหนดของจังหวัดนั้น ๆ ด้วย

 

ในส่วนของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ยังไม่ได้รับวัคซีน สามารถเข้าใช้บริการร้านอาหารได้ตามปกติ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงของผู้ปกครอง และการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เนื่องจากในพื้นที่สีแดงเข้มมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ อย่างไรก็ดีเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แนะนำให้สั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ และรับประทานอาหารที่บ้าน

กรมอนามัยไขข้อสงสัย สรุป “ข้อปฏิบัติร้านอาหาร” หลังนั่งกินในร้านได้