หุ้นไทยยังเสี่ยง จับตายอดผู้ติดเชื้อ หลังคลายล็อกดาวน์

30 ส.ค. 2564 | 13:21 น.

ตลาดหุ้นไทยเริ่มกลับมาคึกคักตอบรับสถาน การณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลายผ่านจุดสูงสุดแล้ว หวังเร่งฉีดวัคซีน และนำเข้าหลากหลาย โบรกแนะจับตาตัวเลขติดเชื้อหลังคลายล็อกดาวน์ หวั่นกลับมาเพิ่มอีก ชี้เป็นความเสี่ยงต่อหุ้นไทยปรับขึ้นจำกัด

เรียกได้ว่า อาการค่อนข้างหนักจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงทำนิวไฮทะลุถึง 23,000 ราย จนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงต่อเนื่องเกือบ2 เดือน และปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อที่เริ่มชะลอลง แม้ยังทรงตัวในระดับสูง แต่ทำให้มีความหวังที่จะคลายล็อกดาวน์ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินได้ต่อ รวมถึงคาดหวังจากการเร่งฉีดวัคซีน ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และสามารถเปิดประเทศได้

 

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยปิดวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่ 1,600.49 จุด สามารถกลับมายืนเหนือ 1,600 จุดได้ในรอบ 2 เดือน โดยตั้งแต่วันที่ 2-25 สิงหาคม 2564 เพิ่มขึ้น 78.57 จุด หรือ 5.16% และจากต้นปีถึงปัจจุบัน ปรับเพิ่มขึ้น 151.14 จุด หรือ 10.42%

 

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อสุทธิ 3 วันต่อเนื่องรวม 7,746 ล้านบาท ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 2-25 สิงหาคม 2564 ขายสุทธิ 6,180.42 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนกรกฎาคมที่ขายสุทธิ 17,020.08 ล้านบาท แต่ยังขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันขายสุทธิรวม 99,462.68 ล้านบาท

 

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน มีทิศทางที่ดีขึ้นจริง จากความคาดหวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย จากตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอยู่ที่วันละ 17,000-18,000 ราย จากที่ผ่านมา ทำจุดสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) 23,000 ราย สะท้อนถึงการผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และหากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงไปเรื่อยๆ มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล. เอเชีย พลัส จำกัด

นอกจากนี้ การที่จะมีวัคซีนที่มีคุณภาพเริ่มเข้ามา ทำให้เกิดความผ่อนคลายมากขึ้น แต่ยังต้องติดตามการควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ หลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดที่จะทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นได้ไม่มากนัก

 

ส่วนการกลับเข้ามาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาตินั้นมองว่า เป็นเพียงการซื้อกลับชั่วคราว ยังต้องรอดูทิศทางการทยอยปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ก่อน ทั้งนี้ คาดกรอบดัชนีระยะสั้นแนวต้านอยู่ที่ 1,612-1,620 จุด ด้านแนวรับอยู่ที่ 1,580 จุด และยังคงเป้าหมายที่ 1,670 จุด

 

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า  ตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ตอบรับเชิงบวกจากความคาดหวังวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีคุณภาพ ทั้งวัคซีน mRNA ที่ช่วยลดการติดเชื้อได้หลายสายพันธุ์ รวมถึงการปลดล็อกของวัคซีนไฟเซอร์

วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน)

 

หากเร่งฉีดได้ตามแผน จะทำให้เกิดภาพคลี่คลายอย่างชัดเจน และสามารถเปิดประเทศได้ในช่วงปลายปีนี้ หรืออย่างช้าต้นปีหน้า แต่ต้องติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังจากคลายล็อกดาวน์ว่า จะกลับมาเพิ่มขึ้นต่อหรือไม่ เพราะยังมีความเสี่ยงหากประชาชนยังการ์ดตก

หุ้นที่ได้รับประโยชน์ขากการผ่อนคลายมาตรการและความคาดหวังซื้อวัคซีนต้าโควิด-19

ส่วนการกลับมาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นที่มีความคาดหวังและเป็นไปตามการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 หากมีแนวโน้มดีขึ้น ก็มีความเชื่อมั่นและกลับมาลงทุน แต่ถ้ายังไม่สามารถควบคุมได้ และกลับมาติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก ก็ยังขายสุทธิเหมือนเดิม ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นการกลับมาซื้อได้อย่างแท้จริง เพราะยังมีตัวแปรที่ต้องติดตามความเสี่ยง รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันที่ 10% และรายได้ของประเทศที่จะกลับมา โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

 

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ จำกัดกล่าวว่า หุ้นไทยหลังจากนี้จะไปต่อจาก 1,600 จุดได้หรือไม่ ขึ้นกับปัจจัยที่เข้ามากระทบและกระแสเงินทุนต่างชาติ โดยปัจจุบันถือว่า ทั้งสองมุมมองมีทิศทางที่ดี ในระยะสั้นยังเป็นขาขึ้น เมื่อเทียบจากที่เคยลดลงไปกว่า 80 จุด ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์บล. ทรีนีตี้ จำกัด

 

ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนที่มีหุ้นเต็มพอร์ต ให้ขายล็อกกำไร ส่วนนักลงทุนที่ยังพอมีกระแสเงินสดไม่จำเป็นต้องขาย ให้ถือรอไปก่อน ซึ่งคาดว่า หุ้นไทยจะไปถึง 1,636 จุด เป็นดัชนีสูงสุดที่เคยคาดการณ์ไว้

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,709 วันที่ 29 สิงหาคม - 1 กันยายน พ.ศ. 2564