มหิดล - Oxford ผนึกสมองล้างบางเชื้อไข้มาลาเรียแบบหมดโลกปี 2573

24 ส.ค. 2564 | 03:12 น.

42 ปี ม.มหิดล - Oxford University สหราชอาณาจักร ร่วมวิจัยต่อยอดพัฒนาวัคซีนขจัดเชื้อไข้มาลาเรียให้หมดไปจากโลกภายในปี 2573 ตามเป้าหมาย WHO

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณคณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นับเป็นเวลา 42 ปีที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้ร่วมกับ Oxford University สหราชอาณาจักร จัดตั้งหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ็อกซ์ฟอร์ด(MORU) เดินหน้าวิจัยโรคไข้มาลาเรียจนปัจจุบันได้ใกล้เข้าสู่ความเป็นจริงที่จะทำให้ประชากรโลกได้มีวัคซีนใช้ป้องกันโรคไข้มาลาเรีย บรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกในการที่จะทำให้โรคไข้มาลาเรียหมดไปจากโลกภายในปี พ.ศ.2573

มหิดล - Oxford ผนึกสมองล้างบางเชื้อไข้มาลาเรียแบบหมดโลกปี 2573

การที่จะบรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่จะทำให้โรคไข้มาลาเรียหมดไปจากโลกภายในปีพ.ศ.2573 ได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งการกำจัดโรคไข้มาลาเรียถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 3 ที่ว่าด้วยการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being) 

ตามเป้าหมาย SDGs 17 ที่ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการบรรลุสู่เป้าหมาย (Partnerships for the Goals) แห่งสหประชาชาติ ในการร่วมวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้มาลาเรีย ซึ่งปัจจุบันมี  3 ประเภท คือ ประเภทที่ 1

ป้องกันไม่ให้เชื้อไข้มาลาเรียจากยุงเข้าสู่ตับของผู้ป่วย(Liver Stage Vaccines) ประเภทที่ 2 วัคซีนที่ป้องกันไม่ให้เชื้อมาลาเรียจากตับผู้ป่วยเข้าสู่เม็ดเลือดแดง (Blood Stage Vaccines) และ ประเภทที่ 3 วัคซีนที่ป้องกันไม่ให้เชื้อมาลาเรียจากเม็ดเลือดแดงผู้ป่วยแพร่กระจายไปเติบโตในตัวยุง (Transmission Blocking Vaccines) ซึ่งเป้าหมายทั้งหมดเพื่อตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อไข้มาลาเรียให้หมดไป

ในประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อโรคไข้มาลาเรียชนิดพลาสโมเดียมไวแวกซ์ (P. vivax) สูงกว่าชนิดพลาสโมเดียมฟัลซิปารัม (P. falciparum)โดยที่ผ่านมาได้มีการทดสอบวัคซีน P. falciparum ในเด็ก ณ ประเทศในทวีปแอฟริกา และทดสอบในอาสาสมัครชาวเอเชียเป็นครั้งแรก ในขณะที่การพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกัน P. vivax ที่ดำเนินการโดยโครงการ "การศึกษาการติดเชื้อมาลาเรียในประเทศไทย (Malaria Infection Study Thailand : MIST) จะได้เริ่มขึ้นในปีหน้า(พ.ศ.2565) ต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความร่วมมือของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน และหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ็อกซ์ฟอร์ด (MORU)

เป็นที่น่ายินดีว่าสถิติผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทยปีพ.ศ.2564 (1 มกราคม - 11 สิงหาคม 2564) มีผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 1,985 ราย (ลดลงร้อยละ 37 จากปีที่แล้ว) ก้าวต่อไปนอกจากการศึกษาวิจัยวัคซีนป้องกันโรคไข้มาลาเรียแล้ว จะได้มีการต่อยอดสู่การพัฒนายารักษาโรคไข้มาลาเรียที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการแก้ไขปัญหาการดื้อยา รวมทั้งการพัฒนาสู่ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาโรคเขตร้อนอื่นๆ รวมทั้งโรค COVID-19 ต่อไป

"ความร่วมมือกับหุ้นส่วนสถาบันทางวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศเป็นวิถีทางให้เราประสบผลสำเร็จ ทั้งในด้านการดูแลสุขภาพประชาชน และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ยินดีที่จะร่วมมือกับหุ้นส่วนสถาบันทางวิชาการอย่างใกล้ชิดในทุกมิติต่อไป" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ กล่าว