“ใส่ใจ” แชทบอทดูแลสุขภาพจิตจากโควิด-19

10 ส.ค. 2564 | 11:58 น.

วิศวะมหิดล ผนึกความร่วมมือกับ แพทยศาสตร์ศิริราชฯ เปิดตัวนวัตกรรมแชทบอท “ใส่ใจ” (Psyjai) ก้าวล้ำด้วย AI ประเมินสภาวะจิตใจและอารมณ์เบื้องต้น บรรเทาความเครียดด้วยหลักจิตวิทยา ตลอด 24 ช.ม.

ดร. กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ปัญหาโควิด-19 ก่อให้เกิดความเครียดวิตกกังวลได้หลายๆด้าน โดยแสดงออกมาในรูปแบบของการนอนไม่หลับ ท้อแท้ รวมถึงความรู้สึกทุกข์ใจและซึมเศร้า”

“ใส่ใจ” แชทบอทดูแลสุขภาพจิตจากโควิด-19

เนื่องด้วยสาเหตุนี้เอง ทาง ทีมวิจัย จึงได้พัฒนา นวัตกรรมแชทบอท “ใส่ใจ” (Psyjai) โดยมีวัตถุประสงค์ คือต้องการดูแลคนไทยให้มีสุขภาพจิตที่ดี ผู้ใช้งานสามารถตระหนักรู้ถึงสภาวะอารมณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า และนำไปสู่การจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม 

 

โดยแชทบอท “ใส่ใจ” นี้ให้บริการผ่านทาง  FACEBOOK ซึ่งใช้ AI วิเคราะห์อารมณ์จากเนื้อหาการพูดคุย  และมีระบบจัดการการสนทนา สำหรับส่งข้อความโต้ตอบให้สอดคล้องกับอารมณ์และประเด็นปัญหาที่ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์หรือตรวจจับได้  ซึ่งแชทบอท “ใส่ใจ” ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่

หนึ่ง ประเมินสภาวะอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์เศร้า เครียด และวิตกกังวล ที่มีต่อภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ข่าวสารเฟคนิวส์ หรือจากผลกระทบต่ออาชีพการงานการศึกษา การปรับตัวทางสังคม ภาระการดูแลสมาชิกในครอบครัว เพื่อสร้างภาวะตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของภาวะสุขภาพจิตในระยะเริ่มแรกที่สามารถให้การดูแลได้ง่าย

 

สอง ให้การดูแลประคับประคองอารมณ์ในระดับเบื้องต้น โดยอ้างอิงหลักการให้การดูแลจิตใจตามหลักจิตวิทยา โดยผู้ใช้งานสามารถพูดคุยกับแชทบอทได้ทุกที่ ทุกเวลา และมีการบ้านหรือแบบฝึกหัด เพื่อกระตุ้นให้นำเนื้อหาที่พูดคุยไปปรับใช้จริง และผู้ใช้งานสามารถติดตามความก้าวหน้าของตนเองได้บนหน้าแสดงข้อมูล

 

นอกจากนี้แชทบอท “ใส่ใจ”(Psyjai) ยังมีระบบให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ สำหรับผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตนเอง หรือมีภาวะอารมณ์ที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง โดยให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาความลับของผู้ใช้งานตามมาตรฐานสากล ทั้งในด้านคะแนนการประเมินสุขภาพจิต และเนื้อหาที่พูดคุย

ทางด้าน รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ในปัจจุบันปัญหาด้านสุขภาพจิตมีความรุนแรงมากขึ้น พบได้ในคนทุกกลุ่มอายุ ในขณะที่ความสามารถในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตที่เป็นมาตรฐานนั้นมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ทั่วโลกต่างกำลังเจอวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19”

 

ซึ่งจากสถิติของกรมสุขภาพจิต รายงานว่า เฉพาะช่วง ม.ค.2564 เดือนเดียว มีผู้ขอรับบริการโทรปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เกี่ยวกับความเครียดจากโควิด-19 มีจำนวนสูงลิ่วถึง 1.8 แสนคน เปรียบเทียบกับทั้งปี 2563 มีจำนวนการโทรขอคำปรึกษาอยู่ที่ราว 7 แสนคน

 

ดังนั้น “ใส่ใจ” จึงตอบโจทย์ด้วยข้อดีคือเพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็วในการประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นด้วยตนเองอย่างถูกต้อง และสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้เป็นจำนวนมาก สะดวกมากขึ้นลดการเดินทางและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกด้วย