ระดมแผน “สร้างงาน” วาระแห่งชาติหลังโควิด

22 ส.ค. 2564 | 03:00 น.

บทบรรณาธิการ

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รายงานสถานการณ์โควิด-19 ผ่านทางเฟชบุ๊กส่วนตัว ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ชี้ถึงผลสำเร็จมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ปลายเดือนก.ค.2564 ว่า แม้ผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังสูงกว่า 20,000 คน แต่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัว ยอดผู้หายป่วยมากกว่า

     รวมทั้งปลุกความเชื่อมั่น ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่อยู่ในการควบคุม โดยมั่นใจว่า การขยายมาตรการและคุมการล็อกดาวน์ให้ดีขึ้น จะทำให้ผ่านจุดสูงสุดการติดเชื้อได้ภายในสิ้นเดือนส.ค.2564 นี้ และเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องได้ในต้นเดือนถัดไป

     แม้สถานการณ์อาจเป็นตามคาด นักรบเสื้อขาวเราเอาชัยเหนือไวรัสได้อีกรอบ แต่สงครามยังไม่จบ และโลกยังมีความเสี่ยงจากเชื้อโควิด-19 ที่พร้อมกลับมาปะทุใหม่ได้ตลอดเวลา และเพียงที่กรำศึกมานี้ก็สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล ภาคเอกชนประเมินว่าการขยายล็อกดาวน์ไปถึงสิ้นเดือนนี้ เศรษฐกิจไทยสูญเสียแล้ว 1 ล้านล้านบาท หากยืดเยื้อหรือกลับมาระบาดซ้ำในช่วงที่เหลือ ความเสียหายก็จะเพิ่มขึ้น

     ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า โควิด-19 สร้าง “หลุมรายได้” ขนาดใหญ่ในเศรษฐกิจไทย โดยที่ผ่านมาทำให้รายได้จ้างงานหายไปแล้ว 1.8 ล้านล้านบาท จากนายจ้างและกลุ่มอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้างอีก 7 แสนล้านบาท หากยืดเยื้อถึงปีหน้ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท หรือเสียหายรวมถึง 2.6 ล้านล้านบาท

     ผู้ว่าฯธปท.ชี้ว่า เม็ดเงินเยียวยาฟื้นฟูที่มีอยู่ไม่พอชดเชย “แผลเป็น”ทางเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ครั้งนี้ เสนอให้พิจารณาขยายเพดานหนี้สาธารณะ และกู้เงินมาเยียวยาฟื้นฟูเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจไทยหลังโควิดสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และรัฐสามารถเก็บรายได้จากเศรษฐกิจที่โตได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งพิจารณาปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

     หลังคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้ จะเข้าสู่โหมดการเยียวยา ซึ่งส่วนหนึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการควบคู่ไปแล้วเพื่อประคองรายได้ของผู้ได้รับผลกระทบให้พอประทังตัวไปได้ และต้องการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมในลำดับถัดไป ซึ่งต้องเตรียมการตั้งแต่ตอนนี้

     นอกจากมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ ปลุกบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยเพื่อให้วงจรเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลอนุมัติมาตรการฟื้นฟูไว้บ้างแล้ว อาทิ โครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น เราเห็นว่ามาตรการเพิ่มเติมจากนี้ควรมุ่งสู่การสร้างงานให้ประชากรกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 กันถ้วนหน้า เพื่อจะเป็นการฟื้นฟูอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน

     หลังการระบาดโควิด-19 ระลอกแรก เรามีโครงการจ้างแรงงานชั่วคราวนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานหลายหมื่นคน เพื่อลดผลกระทบจากภาวะตำแหน่งงานหายาก มีโครงการร่วมจ่ายระหว่างกระทรวงแรงงานกับนายจ้าง เพื่อจ้างแรงงานใหม่ องค์กรธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งระดมจ้างงาน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

     หลังคุมโควิดจึงเป็นวาระของการระดมสรรพกำลัง “สร้างงาน” ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ให้เพื่อนร่วมชาติได้กลับมามีอาชีพสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรี เป็นวาระแห่งชาติเพื่อร่วมกันลบรอยแผลเป็นของหลุมรายได้ขนาดมหึมาจากพิษโควิด-19 ครั้งนี้