29 กรกฎา ความเป็นมา "วันภาษาไทยแห่งชาติ"

29 ก.ค. 2564 | 07:42 น.

“เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน” พระราชดำรัสตอนหนึ่งของในหลวงรัชกาลที่9

พระราชดำรัสข้างต้นของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ยังคงอยู่ในความทรงจำและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นภาษาประจำชาติของบ้านเมืองเรา

 

รัฐบาลได้กำหนดให้ “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ และเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบในปีนั้น โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์ 5 ข้อ ดังนี้

29 กรกฎา ความเป็นมา "วันภาษาไทยแห่งชาติ"

1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย

 

2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่9) เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542

 

3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

 

4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้น และ

 

5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่าง ๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีความสนพระราชหฤทัยห่วงใยในภาษาไทย พระราชดำรัสของพระองค์ในวันนั้น ไม่เพียงกระตุ้นให้ชาวไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย แต่ยังทำให้ชาวไทยทุกคนภาคภูมิใจในมรดกวัฒนธรรมทางภาษาที่สืบทอดมายาวนานจากบรรพบุรุษหลายยุคสมัย เนื่องจากการมีภาษาของตัวเองใช้ในประเทศนั้น บ่งบอกถึงเอกลักษณ์และการส่งต่อวัฒนธรรมทางภาษาจากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่สืบไป

 

สำหรับกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยปกติสถาบันการศึกษาจะกิจกรรมเกี่ยวกับภาษาไทยเป็นประจำทุกปี เช่น จัดนิทรรศการที่เกี่ยวกับภาษาไทย เปิดโอกาสให้นักเรียนแต่งคำขวัญ ประพันธ์ร้อยแก้ว-ร้อยกรอง และประกวดเรียงความในวันภาษาไทยแห่งชาติ เป็นต้น ส่วนในระดับครูอาจารย์ มักจัดงานอภิปรายทางวิชาการเกี่ยวกับการเรียนและการสอนภาษาไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ นำมาสู่การส่งเสริมการใช้ภาษาไทยและถ่ายทอดให้ผู้เรียนต่อไป

 

แต่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายแห่งได้ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมมาสู่ระบบออนไลน์ เช่น การทำแบบทดสอบทางภาษาไทยออนไลน์ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่ทำคะแนนได้ดี จะได้รับเกียรติบัตรดิจิทัล เป็นต้น

 

ขณะที่ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เช่นการคัดเลือกผู้ใช้ภาษาไทยสร้างสรรค์ดีเด่น การคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย นอกจากนี้ ยังมีการคัดเลือกเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน การประกวดเพลงเพชรในเพลง การจัดทำวิดิทัศน์ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยของสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย การจัดทำวิดิทัศน์รณรงค์ส่งเสริมการใช้ภาษาไทย การประกวดคำขวัญวันภาษาไทยแห่งชาติ การประกวดสื่อสร้างสรรค์วันภาษาไทยแห่งชาติ พ.ศ.2564 หัวข้อ “ตระหนัก รักษ์ ภาษาไทย” การเสวนาทางวิชาการด้านภาษาไทย กิจกรรมส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และการจัดพิมพ์หนังสือเก่าหายาก “ปทานุกรมและอักษรนิติ (แบบเรียนไทยสมัยรัชกาลที่ 4)” เป็นต้น

 

ทั้งนี้ วธ.จะจัดงานภาษาไทยแห่งชาติขึ้นที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยจะมีพิธีมอบโล่เกียรติยศและโล่รางวัลแก่หน่วยงาน และผู้ได้รับรางวัลด้านภาษาไทย ผู้ชนะการประกวดต่างๆ และศิลปินผู้ได้รับรางวัลเพชรในเพลง รวมทั้งมีนิทรรศการวันภาษาไทยแห่งชาติ นิทรรศการแสดงผลงานของผู้ได้รับรางวัลด้านภาษาไทยและเพชรในเพลงและการแสดงของศิลปินเพชรในเพลง การแสดงศิลปวัฒนธรรม โดยมีการถ่ายทอดสด (Live) ผ่านทาง เพจเฟซบุ๊กกระทรวงวัฒนธรรม ด้วย