เข็นต่อ ร่าง พรบ.วัตถุอันตราย จับตามีคนได้-เสีย เคมีภัณฑ์ 6 แสนล้าน สะเทือน

24 ก.ค. 2564 | 05:50 น.

ยังไม่จบ ร่างพรบ.วัตถุอันตราย “สรวุฒิ” ปธ.กมธ.เข็นต่อ ขณะที่ ส.อ.ท. ผวา ตลาดเคมีภัณฑ์  6 แสนล้าน สะเทือน ขอเพิ่มสัดส่วนกรรมการเข้าร่วมพิจารณา-นักลงทุนเทศ บ่นอุบ ไทยสั่ง แจงสูตร100% ชี้เป็นความลับทางการค้า

ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่…) พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มีทั้งหมด 10 มาตรา สาระสำคัญระบุถึงความจำเป็นในการกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญ หรือองค์กรผู้เชี่ยวชาญของต่างประเทศในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย จาก 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งถูกมองถึงการมีส่วนได้เสีย จากตลาดนำเข้า-ส่งออกเคมีภัณฑ์ของไทยมีมูลค่ามากกว่า 6 แสนล้านบาท (นำเข้าปี 2563 มูลค่า  4.53 แสนล้านบาท และส่งออกมูลค่า 2.06 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่) พ.ศ. …. ที่มีนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เป็นประธาน อยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระสอง แต่ท้ายสุดต้องถอนวาระออกจากที่ประชุม (2 ก.ค.64) หลังเกิดความขัดแย้งอย่างหนัก

 

สรวุฒิ เนื่องจำนงค์

 

นายสรวุฒิ  เนื่องจำนงค์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ร่างกฎหมายตัวนี้เป็นกฎหมายที่ใช้กับ พ.ร.บ.ตัวอื่นด้วย ไม่ใช่แค่กับสารเคมีเกษตรเพียงอย่างเดียว ยังมี พ.ร.บ.ยา, พ.ร.บ.เครื่องสำอาง, พ.ร.บ.สมุนไพร, พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ โดยทุก พ.ร.บ.จะใช้ข้อความเดียวกันทั้งหมดคือวรรคที่ระบุ กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมเป็นคณะกรรมการในการพิจารณาวัตถุอันตราย

 

ปริมาณนำเข้า-ส่งออก วัตถุอันตราย

ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย เกิดความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีจะมีการเปิดประชุมเพื่อขยายระยะเวลาเพื่อทบทวนและปรับปรุงร่างฯ อีกครั้ง แต่เวลานี้ยังไม่สามารถกำหนดการประชุมได้ เนื่องจากรัฐสภางดประชุมจากผลกระทบโควิด

 

เกียรติ สิทธีอมร

 

ด้าน นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้สงวนคำแปรญัตติ ในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ว่า ได้สงวนคำแปรญัตติไว้ คือมาตรา 56/1 56/2 และ 56/3 ในประเด็นที่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถไปจ้างผู้ใดมาช่วยได้บ้างในเวลาที่ตัวเองไม่มีขีดความสามารถเพียงพอ ซึ่งจากการตรวจสอบแนวปฏิบัติในหลายประเทศ พบว่า เพื่อความน่าเชื่อถือของหน่วยงานและระบบราชการ เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนจริง ๆ จะต้องใช้สถาบันที่เป็นที่ยอมรับและเป็นที่น่าเชื่อถือทั้งสิ้น

 

ดังนั้นจึงขอให้ปรับคำว่า องค์กร ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ให้เป็นสถาบันวิชาการ และหรือสถาบันวิจัยในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายและเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ  แต่หากเขียนกฎหมายเพื่อรองรับกรณีใช้บุคคลที่เกษียณอายุมาจากหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันวิจัยต่าง ๆ คิดว่าไม่สมควร

 

 

เกรียงศักดิ์ เธียรนุกูล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การออกกฎหมายใด ๆ ควรจะเพิ่มคน ส.อ.ท. เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ เพราะจะได้คนที่มีความรู้และอยู่ในภาคปฏิบัติจริงเข้ามาร่วมเพื่อแสดงความคิดเห็น ต้องยอมรับประเทศไทยวันนี้ ปัญหาหนึ่งคือ มีกฎหมายจำนวนมากที่ล้าสมัย ขัดกับแนวทางการทำธุรกิจในยุคใหม่ที่จะต้องเกิดความสะดวก รวดเร็ว และช่วยลดต้นทุน

 

 

เพชรรัตน์ เอกแสงกุล

สอดคล้องด้านนางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ และกรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เริ่มมีเสียงบ่นจากนักลงทุนต่างชาติแล้วว่าเวลามาประกอบธุรกิจนำเข้าต้องไปจดทะเบียน ซึ่งในหลายประเทศขอให้ชี้แจงสูตร100% เฉพาะสูตรที่เป็นตัวอันตราย แต่ประเทศไทยให้แจง 100% แล้วใครจะแจ้ง เพราะเป็นความลับทางการค้า ความจริงไม่ต้องเสนอนำเสนอกฎหมายอะไรใหม่เลยเพียงแค่ลดข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการธุรกิจจะดีกว่า

 

ชวลิต วิชยสุทธิ์

 

ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขอให้ตัดถ้อยคำในร่าง พ.ร.บ. เรื่ององค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศออก ไม่ให้เข้ามามีส่วนในกระบวนการพิจารณาในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตนำเข้าหรือส่งออก ถ้าหากตัดตามข้อเสนอแนะ คาดกฎหมายนี้จะผ่านสภาไปได้

 

ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ  ต้องติดตามว่าทาง คณะกรรมาธิการ จะกลับไปทบทวนร่างและปรับปรุงตามข้อเสนอหรือไม่ และที่สุดแล้วใครจะได้ ใครจะเสีย ต้องจับตา

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 9  ฉบับที่ 3,699 วันที่ 25 - 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564