ผงะ “กระทิง”  สัตว์ป่า ตัวแรกของไทย ติดโรคอุบัติใหม่ “ลัมปี สกิน”

15 ก.ค. 2564 | 08:51 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ จับมือ กรมอุทยานฯ และผู้ว่าฯ ยกระดับคุมเข้ม “โรคลัมปี สกิน” หลัง “กระทิง”  สัตว์ป่า ตัวแรกของไทย ติดโรคอุบัติใหม่ “ลัมปี สกิน” เร่งจัดสรรวัคซีน 5 ล้านโดสแล้ว มั่นใจโรคสงบใน 3 เดือน

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่ากรมปศุสัตว์ได้ตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการซากกระทิงที่มีผิวหนังมีตุ่มนูน และโดนขวิดตายจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งผลพบว่ากระทิงมีการติดเชื้อลัมปี สกิน กรมปศุสัตว์ได้ตรวจสอบสถานการณ์โรคในพื้นที่ 5 กิโลเมตรจากชายขอบรัศมีอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งพบว่ามีโค จำนวน 2,234 ตัว จากเกษตรกรจำนวน 209 มีแสดงอาการป่วย 4 ตัว และได้ประสานกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เร่งด่วนซึ่งมี 6 มาตรการดังนี้

 

1. ระงับการเคลื่อนย้ายโค - กระบือ เข้าและออกในพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตร รอบจุดเกิดโรค ซึ่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีการประกาศเป็นเขตโรคระบาดชนิดลัมปี สกิน และมีการห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทุกพื้นที่แล้ว

 

2. เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการควบคุมและกำจัดแมลงพาหะของโรคในพื้นที่เสี่ยงโดยการใช้ยาพ่นฆ่าแมลงในพื้นที่ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะและฉีดพ่นบนตัวโค กระบือ เป็นต้น

 

3. เร่งรัดการทำวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ พื้นที่ 5 กิโลเมตรจากชายขอบอุทยานประมาณ 2,234 ตัว

 

4. ประชาสัมพันธ์เกษตรกรในพื้นที่ หากพบโคแสดงอาการให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อช่วยรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยและลดการแพร่เชื้อโรค

 

5. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีต้องป้องกันไม่ให้สัตว์ป่า เช่น กระทิง วัวแดง และควายป่า ออกมาหากินในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโค กระบือ รวมทั้งไม่ให้มีการนำโค กระบือเข้าไปเลี้ยงในพื้นที่ที่กระทิงอยู่อาศัยโดยมีระยะแนวกันชนประมาณ 1 กิโลเมตร

 

6. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีพ่นยาฆ่าแมลงภายในยานพาหนะที่เข้า-ออกในพื้นที่ไม่ให้เป็นพาหะนำโรค และขอให้ยกระดับการเฝ้าระวัง ป้องกันในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศอีกด้วย พร้อมประสานผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอความร่วมมือยกระดับการควบคุมการระบาดของโรคลัมปี สกิน โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เขตป่า โดยให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดร่วมเฝ้าระวังด้วย


 

ฉีดพ่น ฆ่าเชื้อโรค

ทั้งนี้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดเร่งฉีดวัคซีนให้กับโค-กระบือของเกษตรกรที่เลี้ยงในพื้นที่ใกล้เขตป่า อุทยานแห่งชาติและและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พร้อมร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าฉีดพ่นสารกำจัดแมลงพาหะบริเวณคอกโค-กระบือเพื่อป้องกันไม่ให้บินไปกัดสัตว์ป่าได้แก่ กระทิง วัวแดง และควายป่า รวมทั้งแนะนำให้เกษตรกรหมั่นรักษาความสะอาดบริเวณคอกโค-กระบือ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงพาหะ ติดหลอดไฟไล่แมลงหรือร่วมกับการกางมุ้งที่คอกสัตว์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการป้องกันโรคในสัตว์ที่เลี้ยงไว้ด้วย

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวต่อว่าได้วางแผนจัดสรรวัคซีน 5 ล้านโดส ที่ ครม. อนุมัติงบกลางให้จัดซื้อเพื่อควบคุมโรค โดยแผนกระจายวัคซีนเป็นไปตามหลักวิชาการอย่างทั่วถึงเป็นธรรม โดยครอบคลุมประชากรโค-กระบือไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของประชากรสัตว์กลุ่มเสี่ยงทั้งประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีโค-กระบือ รวม 10,249,349 ตัว แบ่งเป็นโคเนื้อ 7,969,519 ตัว โคนม 811,688 ตัว กระบือ 1,568,042 ตัว

 

สำหรับการฉีด วัคซีนลัมปี สกิน ของกรมปศุสัตว์นั้น ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จากเกษตรกรทั้งสิ้น ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดปัจจุบันสถานการณ์พบสัตว์ป่วยใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก มั่นใจว่า เมื่อดำเนินการฉีดวัคซีนตามเป้าหมาย โรคจะสงบได้ภายใน 3 เดือน    ส่วนกรณีของการเยียวยาโค-กระบือที่ป่วยตายด้วยโรคลัมปี สกิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เพื่อช่วยเกษตรกรให้มากที่สุด

อนึ่ง "โรคลัมปี สกิน" มีรายงานการเกิดโรคใน วัวพื้นเมืองและวัวสายพันธุ์ยุโรป  (Bos indicus และ Bos taurus) และกระบือ (Bubalus bubalis) โดยมักจะพบว่าวัวสายพันธุ์ยุโรปมีอาการรุนแรงมากกว่าวัวสายพันธุ์พื้นเมือง

 

อย่างไรก็ดี มีรายงานโรคในกลุ่ม Antelope ในแอฟริกา ได้แก่ ออริกซ์ และตรวจพบการติดเชื้อในสัตว์ป่ากลุ่ม Antelope หลายชนิด เช่น สปริงบ๊อค อิมพาลา ยีราฟ เป็นต้น  สำหรับ กระทิง (Bos guarus) หรือวัวแดง (Bos javanicus) ในประเทศไทย เนื่องจากพันธุกรรม อยู่ในตระกูล Bos spp เหมือนกันกับวัว