ส่อง 10 อันดับยี่ห้อรถแบรนด์ไหน ขายดีสุด ประจำปี2566

06 ก.พ. 2567 | 20:36 น.

บทสรุปยานยนต์ไทยปี 2566 เช็คเลยยี่ห้อไหนขายดีสุด 10 อันดับแรก พร้อมส่องแนวโน้มตลาดรถยนต์ปี 2567 รุ่ง หรือ ร่วง ตรวจสอบที่นี่

ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2566 ปิดยอดขายในประเทศไป 775,780 คัน หรือลดลง 9% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยเซกเมนต์ที่หดตัวคือกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์ ที่มียอดขาย 483,275 คัน ลดลง 17 % อย่างไรก็ตามในกลุ่มรถยนต์นั่ง มียอดขายรวม 292,505 คัน เพิ่มขึ้น 10 % 

 

สำหรับยอดขายรถยนต์ที่ชะลอตัวลงในปีนี้ผ่านมา ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ หนี้ครัวเรือนที่ยังสูง และสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในระดับสูง 

 

เมื่อมาดูยอดขายรถยนต์แบรนด์ต่างๆในปีที่ผ่านมา 5 อันดับแรกยังคงเป็นเหล่าผู้เล่นในตลาดที่อยู่มานานอย่าง โตโยต้า อีซูซุ ฮอนด้า ฟอร์ด มิตซูบิชิ ส่วนอันดับ 6 ของตลาดตกเป็นของแบรนด์จีน  บีวายดี ที่ดันยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งนี้สามารถตรวจสอบ 10 อันดับแบรนด์รถยนต์ที่ขายดีที่สุดในประเทศไทยได้ดังนี้

 

ยี่ห้อรถยนต์ขายดีในไทย10 อันดับแรก (ม.ค.-ธ.ค.66)  

  1. โตโยต้า    265,949 คัน         
  2. อีซูซุ        151,935 คัน      
  3. ฮอนด้า     94,336  คัน      
  4. ฟอร์ด       36,483  คัน      
  5. มิตซูบิชิ    32,668  คัน      
  6. บีวายดี     30,432  คัน    
  7. เอ็มจี        27,311  คัน       
  8. มาสด้า     16,544  คัน     
  9. นิสสัน      16,423   คัน      
  10. เนต้า        13,836  คัน     


สรุปยอดขายแบรนด์จีนปี 2566 

  • บีวายดี     30,432    คัน 
  • เอ็มจี        27,311    คัน     
  • เนต้า        13,836    คัน 
  • เกรท วอลล์ มอเตอร์ 13,039 คัน 
  • GAC AION     88 คัน
     

 

ยี่ห้อรถยนต์ขายดีในไทย10 อันดับแรก (ม.ค.-ธ.ค.66)

 

ส่วนทิศทางตลาดรถยนต์ในปี 2567 จะไปในทิศทางไหน จะเติบโตหรือไม่ มีปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยบวกอะไรที่มีผลกับตลาดบ้าง สามารถตรวจสอบได้ที่นี่

 

โตโยต้า ประเมินตลาดรวมปี 67 เติบโต 3 % 

โตโยต้า เผยถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2567 คาดว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยรอบด้านที่จะส่งผลกระทบ อาทิ การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น นโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายให้เร่งตัวขึ้น การขยายตัวของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันมาตรการสนับสนุนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง คือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลในด้านการส่งออก ตลอดจนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง และทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ย โดยโตโยต้า คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2567 จะอยู่ที่ 800,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ยอดขายของโตโยต้าในปี 2567 ตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 277,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4% ส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 34.6%

โตโยต้า ประเมินตลาดรวมปี 67 เติบโต 3 % 

 

ซูซูกิ คาดยอดขายตลาดรถรวมปี 67 ทะลุ 8 แสนคัน

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในปี 2567 ด้วยแนวโน้มของสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ตลาดรถยนต์น่าจะกลับมามีการเติบโตขึ้นอีกครั้ง คาดการณ์ว่าตัวเลขยอดขายรวมของทั้งตลาดจะมีตัวเลขอยู่ประมาณ 800,000 คัน  สำหรับซูซูกิ ตั้งเป้ายอดขายในปี 2567 รวมจำนวน 12,000 คัน 


นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

มาสด้า คาดตลาดรถปี 67 แข่งเดือด 

นาย ทาดาชิ มิอุระ ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาคึกคัก ส่วนกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น กลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19

 

"มาสด้าเชื่อว่าในปีนี้จะเป็นปีที่ท้ายทายยิ่งขึ้น การแข่งขันของตลาดรถยนต์ในประเทศจะทวีความร้อนแรง การเข้ามาลงทุนจากนักธุรกิจต่างประเทศ ผลักดันให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้นจากการปรับอัตราค่าแรง " 

 

โดยมาสด้า คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 750,000 – 800,000 คัน หรือใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ในส่วนของมาสด้าคาดว่าจะเติบโตเช่นเดียวกัน เนื่องจากฐานลูกค้าที่เข้ามารับบริการที่ศูนย์บริการเพิ่มขึ้นช่วยเพิ่มโอกาสในการขายรถใหม่มากขึ้น

 

มาสด้า คาดตลาดรถปี 67 แข่งเดือด 

 

สภาอุตฯตั้งเป้าผลิตรถปี 67 จำนวน 1.9 ล้านคัน โต 3.17 %

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในปี 2567 ได้ประมาณการยอดผลิตรถยนต์ในประเทศจำนวน 1,900,000 คัน เพิ่มขึ้น 3.17 % เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ผลิตได้ 1,841,663 คัน โดยแบ่งออกเป็น ผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,150,000 คัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 750,000 คัน 

เป้าหมายการผลิตรถยนต์ไทย ปี 2567

 

สำหรับปัจจัยบวก และ ปัจจัยลบที่จะมีผลกระทบต่อการผลิตเพื่อส่งออกมีดังต่อไปนี้ 

ปัจจัยบวก 

  • ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะซึ่งขนส่งสินค้าและคนเพื่อส่งออกไปทั่วโลกกว่าหนึ่งร้อยประเทศจึงอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากจากเศรษฐกิจชะลอตัว
  • ประเทศจีนเปิดประเทศซึ่งอาจส่งผลให้การค้าโลกและการท่องเที่ยวเติบโตเป็นผลดีต่อการส่งออกของหลายประเทศดีขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของประเทศไทย
  • การขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลายลงมากส่งผลให้การผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น
  • การลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอาจมีการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า
  • คำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้า สหรัฐฯ, ยุโรป, จีน เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มอ่าวอาหรับ GCC
  • อัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ในช่วงขาลงทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น

ปัจจัยลบ 

  • การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและความขัดแย้งระหว่างประเทศอาจขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและการเพิ่มขึ้นใหม่ซึ่งจะ ส่งผลต่อการส่งออกลดลงและเงินเฟ้ออาจสูงขึ้น
  • ตลาดทั้งในและต่างประเทศเกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในสินค้าประเภทเดียวกัน และคู่แข่งเกิดขึ้นในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 
  • นโยบายของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก เช่น การขึ้นภาษีสรรพสามิตในรถยนต์บางประเภทในลาว

 

สำหรับปัจจัยบวก และ ปัจจัยลบที่จะมีผลกระทบต่อการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ มีดังต่อไปนี้ 

ปัจจัยบวก 

  • การย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาไทย ทำให้เกิดการเชื่อมโยง Supply Chain ของอุตสาหกรรม 
  • ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นทั่วโลกจากกฎระเบียบและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
  • เริ่มมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

ปัจจัยลบ 

  • หนี้ครัวเรือนสูง หนี้สาธารณะสูง ค่าครองชีพสูง อัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชนลดลง ทำให้ยอดขายอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีsupply chain หลายอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ส่งผลต่อการจ้างงาน ทำให้รายได้คนงานก่อสร้างและโรงงานลดลง
  • งบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 ล่าช้าออกไปราวแปดเดือนทำให้การลงทุนและการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้าออกไปด้วย ส่งผลให้การลงทุนการจ้างงานของเอกชนล่าช้าออกไป เศรษฐกิจจึงเติบโตในระดับต่ำ
  • ภัยธรรมชาติที่คาดไม่ถึง อาจจะกระทบต่อผลผลิตและรายได้เกษตรกร
  • ความขัดแยังระหว่างประเทศอาจขยายตัวและเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่จะส่งผลให้ราคาพลังงาน สินค้า และวัตถุดิบสูงขึ้น
  • การส่งออกสินค้าต่างๆ ในปีนี่อาจลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงส่งผลการผลิตการลงทุนการจ้างงานลดลง อำนาจซื้อลดลง
     

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย