จับตานโยบาย EV “โดนัลด์ ทรัมป์” บทบาท “อีลอน มัสก์” ต่อทำเนียบขาว

12 พ.ย. 2567 | 07:54 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 09:51 น.

ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 โดนัลด์ ทรัมป์ ชัดเจนในแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์แบบดั้งเดิม และจ่อเก็บภาษีนำเข้า EV เพิ่มเติม โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน หวังปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ตลอดการหาเสียง ยืนยันว่า จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายสิ่งแวดล้อมอันเข้มงวดเกินไป(เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ และมีโอกาสผลักภาระไปยังผู้บริโภค) ไปจนถึงการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (อีกครั้ง)

 

ขณะเดียวกันตลอดการหาเสียง ยังเห็นการสนับสนุนที่ชัดเจนจาก“อีลอน มัสก์” ซีอีโอ เทสลา และสเปซเอ็กซ์ ทั้งการโพสต์เชียร์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และการขึ้นเวทีหาเสียง รวมถึงบริจาคเงินสนับสนุนมากกว่า 4,000 ล้านบาท

จับตานโยบาย EV “โดนัลด์ ทรัมป์” บทบาท “อีลอน มัสก์” ต่อทำเนียบขาว

หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพลับริกัน มีชัยชนะเหนือ “กมลา แฮร์ริส” ฝั่งเดโมแครต ยังพบว่า มหาเศรษฐีระดับโลกได้รับอานิสงค์จากตลาดหุ้น รวมถึง อีลอน มัสก์ เองยังได้รับทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 26,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 901,000 ล้านบาท) ส่งผลให้ทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 290,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9.86 ล้านล้านบาท (ข้อมูล Bloomberg)

 

ตามรายงานระบุว่า นักลงทุนคาดหวังให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่ฉุดรั้งธุรกิจ พร้อมลดภาษีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นและช่วยให้มหาเศรษฐีทั่วโลก ได้รับกำไรเพิ่มขึ้น

 

ในส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ อาจจะเห็นการฟื้นตัวของบรรดาบิ๊ก 3 ทั้ง ฟอร์ด เจนเนอรัล มอเตอร์ส และ สเตลแลนทิส (ไครส์เลอร์-เฟียต ร่วมทุนกับ พีเอสเอ ฝรั่งเศส) รวมถึง เทสลา ของอีลอน มัสก์ ย่อมได้อานิสงส์ไปด้วย

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เปิดเผยว่า โดนัลด์ ทรัมป์ เคยออกความเห็นที่ไม่สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า เพราะมองว่าเป็นการส่งผลดีต่อจีน มากกว่าสหรัฐอเมริกา และกระทบในทางลบต่อการจ้างงานของอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนของอีลอน มัสก์ ในระหว่างการเลือกตั้ง และค่อนข้างแน่ชัดว่า อีลอน มัสก์ จะได้เข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาล

 

ดังนั้นนโยบายที่สำคัญในอนาคต น่าจะเป็นนโยบายที่อีลอน มัสก์จะมีส่วนในการนำเสนอต่อ โดนัลด์ ทรัมป์ รวมไปถึงนโยบายระหว่างประเทศ เพราะเทสลา มีโรงงานผลิตอีวี เซียงไฮ้ กิกะแฟคทอรี ในจีน จึงต้องระมัดระวังการออกนโยบายที่กีดกันทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศนี้

 

นอกจากนี้ นโยบายที่เกี่ยวข้องด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำนวนมาก ได้รับการบรรจุอยู่ในกฎหมายของรัฐบาลกลางในช่วงของ ปธน.โจ ไบเดน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปยกเลิกกฎหมายเหล่านั้น ซึ่งหากจะมีการยกเลิกจริง โดนัลด์ ทรัมป์ จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน

 

“นักวิเคราะห์ มองว่าขั้นตอนในระยะสั้น มีโอกาสที่ปธน.ทรัมป์ จะลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า และสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศเป็นอันดับแรก แต่ในระยะยาว จะมีนโยบายต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างไร ยังต้องจับตาดูต่อไป” นายกฤษฎา กล่าวสรุป

 

ภายใต้ความเฉียบขาดของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ยึดผลประโยชน์ของชาวอเมริกันมาก่อน บวกกับมันสมองอย่าง “อีลอน มัสก์” ที่จะมีบทบาทกับทำเนียบขาว โดยไม่จำกัดอยู่แค่ EV หรือโครงการอวกาศ แต่น่าจะมีไอเดียบรรเจิด เกิดแนวทางใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถต่อกรกับมหาอำนาจใหม่อย่าง “จีน” ได้