เปิดสถิติยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า EV ปี 66 ทะลุ 76,366 คัน

19 ม.ค. 2567 | 08:00 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2567 | 08:23 น.

EV ยอดพุ่ง เปิดสถิติยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าปี 2566 ทะลุ 76,366 คัน ส่วนยอดจดทะเบียนสะสมพุ่งกว่า 552 % ด้านกรมสรรพสามิต มั่นใจนโยบาย EV3.5 ผลักดันไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย Electric Vehicle Association of Thailand - EVAT สรุปสถานการณ์ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม 2566 พบว่าในปี 2566 รถยนต์ไฟฟ้า BEV มียอดจดทะเบียนจำนวน 76,366 คัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 9,678 คัน  ขณะที่ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า BEV รวมทุกประเภท ตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม 2566 มีการจดทะเบียนใหม่ทั้งสิ้น 100,219 คัน เติบโต 380% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 20,816 คัน ทั้งนี้สามารถตรวจสอบยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆได้ดังต่อไปนี้ 

 

ประเภทยานยนต์ไฟฟ้า BEV ในการจดทะเบียนใหม่ในปี 2566  

  • รถยนต์ไฟฟ้า BEV จำนวน 76,366 คัน
  • รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า BEV จำนวน  21,927 คัน
  • รถโดยสารไฟฟ้า BEV จำนวน 1,218 คัน 
  • รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า BEV จำนวน 432 คัน
  • รถบรรทุกไฟฟ้า BEV จำนวน  276 คัน

เมื่อมาดูยอดจดทะเบียนสะสม ในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า BEV มียอดเพิ่มขึ้นจาก 32,081 คัน ในปี 2565 เป็น 131,856 คัน ในปี 2566 เติบโต 311 % โดยยอดสะสมในกลุ่มนี้เติบโตในทุกประเภท โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

รถยนต์ไฟฟ้า BEV เติบโต  552 %

  • ปี 2565 ยอดจดทะเบียนสะสม 13,805 คัน
  • ปี 2566 ยอดจดทะเบียนสะสม 90,022 คัน 

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า BEV เติบโต 131 % 

  • ปี 2565 ยอดจดทะเบียนสะสม 16,540 คัน
  • ปี 2566 ยอดจดทะเบียนสะสม 38,211 คัน 

รถโดยสารไฟฟ้า BEVเติบโต  99 % 

  • ปี 2565 ยอดจดทะเบียนสะสม 1,212 คัน 
  • ปี 2565 ยอดจดทะเบียนสะสม 2,419 คัน 

รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า BEV เติบโต 80 % 

  • ปี 2565 ยอดจดทะเบียนสะสม 498  คัน 
  • ปี 2565 ยอดจดทะเบียนสะสม 901 คัน 

รถบรรทุกไฟฟ้า BEV เติบโต 1,065 % 

  • ปี 2565 ยอดจดทะเบียนสะสม 26 คัน 
  • ปี 2565 ยอดจดทะเบียนสะสม 303 คัน

เปิดสถิติยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า EV ปี 66 ทะลุ 76,366 คัน

แบรนด์จีน ยกขบวนลงนามรับสิทธิ EV 3.5  


สำหรับภาพรวมยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2567 โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า BEV มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ล่าสุดค่ายรถยนต์จากจีนอย่าง ฉางอาน,เอสเอไอซี และ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5  กับกรมสรรพสามิต 

 

ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตได้เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 ในช่วงปี 2567 – 2570 เพื่อส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่กับการขยายโอกาสของประเทศไทยในเวทีโลกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทย ให้เกิดการขยายตัวและเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

 

รวมไปถึงการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) 

 

ดร. เอกนิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดการณ์การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากมาตรการ EV 3.5 ประมาณ 175,000 คัน ในปี 2567-2568 ส่งผลให้เกิดการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ ประมาณ 350,000 – 525,000 คัน ภายในปี 2570 โดยมียอดประมาณการเงินอุดหนุนในมาตรการ EV 3.5 อยู่ที่ 34,060 ล้านบาท 

 

"มาตรการ EV 3.5 จะเป็นการช่วยส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่กับการสร้างโอกาสในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์กรมสรรพสามิต "

เอสเอไอซี- เอ็มจี ลงนามสนับสนุนนโยบายEV3.5

เกรท วอลล์ มอเตอร์ คาดปี 67 อุตฯยานยนต์ขยายตัว

นายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะขยายตัวและเติบโตอย่างเห็นได้ชัด จากการที่แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ โดยเฉพาะแบรนด์รถยนต์จากประเทศจีนที่เล็งเห็นโอกาสในตลาดยานยนต์ไทย และเข้ามาลงทุนก่อตั้งโรงงานเพื่อเพิ่มสายการผลิตในประเทศไทย รวมถึงยกให้ประเทศไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาค 

 

"เกรท วอลล์ มอเตอร์ เพิ่งเปิดตัว New GWM ORA Good Cat จากสายการผลิตภายในประเทศที่โรงงาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) ที่จังหวัดระยอง และจะส่งมอบลูกค้าคนไทยภายในเดือนมกราคม 2567 ภายใต้นโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรการ ZEV 3.0 ของรัฐบาล ซึ่งเรายืนยันว่าจะเดินหน้าพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมตัวเลือกหลากหลาย ตอบโจทย์ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์แบบแบตเตอรี่ ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด รวมถึงยกระดับการบริการต่าง ๆ ”

New GWM ORA Good Cat

 

นายณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดบริษัทฯได้ร่วมกับนิด้าโพลเพื่อสำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมคนไทยที่มีต่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและพบว่าแนวโน้มการเปิดรับรถยนต์ไฟฟ้าของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นจากการเติบโตของยอดขายและยอดจดทะเบียนของรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 700% จากปี 2565 ที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ การเข้ามาของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ โดยเฉพาะจากประเทศจีน 

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างต้องร่วมมือกันในการผลักดันการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องผ่านนโยบายและสิทธิพิเศษต่าง ๆ การขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน การทำงานร่วมกันเกี่ยวกับข้อกังวลต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัยที่สามารถวิ่งได้ระยะทางมากขึ้นต่อการชาร์จหนึ่งครั้งเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ขับขี่ รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าและส่วนประกอบสำคัญอย่างเช่น แบตเตอรี่ ให้มากยิ่งขึ้น 

เกรทวอลล์มอเตอร์ ร่วมกับนิด้าโพล สำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมคนไทยที่มีต่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า