บอร์ด EV เคาะแพ็คเกจภาษีผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 2.4 หมื่นล้าน

02 ก.พ. 2566 | 10:04 น.

บอร์ด EV เคาะแพ็คเกจภาษีสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า วงเงิน 24,000 ล้านบาท ดันการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย พร้อมส่งเสริมเปลี่ยนรถเก่าเครื่องยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

วันนี้ (2 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการมาตรการทางด้านภาษีสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า วงเงิน 24,000 ล้านบาท

 

รองนายกฯ ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV)

 

ลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 1%

หลักการของมาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ ที่ประชุมเห็นชอบการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจาก 8% ลดเหลือ 1% รวมทั้งเงินสนับสนุนวงเงิน 24,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า 

โดยเงินสนับสนุนจะขึ้นกับขนาดของโรงงานผลิตแบตเตอรี่และความจุพลังงานจำเพาะของแบตเตอรี่ สำหรับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดต่ำกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 400-600 บาท/kWh หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh 

ทั้งนี้เนื่องจากวงเงินงบประมาณมีจำนวนจำกัด การให้เงินสนับสนุนจะอยู่บนหลักการ ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน โดยเงินสนับสนุนที่ภาครัฐให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตของรถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าขายในตลาดมีราคาถูกลง 

อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้ ยังไม่ได้สรุปถึงเรื่องของแหล่งเงินที่จะมาใช้ ซึ่งจากนี้ไปจะมีการหาข้อสรุปกันให้ชัดเจนอีกครั้ง ก่อนจะนำมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

รองนายกฯ ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV)

 

ออกมาตรการหนุนเปลี่ยนรถเก่าเป็น EV

การประชุมครั้งนี้ยังพิจารณามาตรการขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งเป็นรถยนต์กลุ่มใหญ่ของประเทศให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องการดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้วเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion)

พร้อมกันนี้ยังรับทราบความคืบหน้าของการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ล่าสุด ระเบียบสามารถเปิดให้หน่วยงานราชการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อใช้ในหน่วยงานได้แล้ว ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรการสนับสนุนการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ที่ได้รับการส่งเสริมไปก่อนหน้านี้

หลายบริษัทแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่สนใจลงทุน

ปัจจุบันประเทศไทยได้รับความสนใจจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกในการมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวีในประเทศ เพราะปัจจัยบวกหลายประการ เช่น 

  1. ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 หรือ การผลิตร้อยละ 30 ในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ที่ชัดเจนและออกมาตรการส่งเสริมในด้าน Demand-Supply อย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจมากขึ้น 
  2. ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากมาตรการให้เงินสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งบอร์ดอีวีได้อนุมัติไปเมื่อปีที่แล้ว 
  3. การที่ผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายจีน และค่ายยุโรป ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของผู้ผลิตแบตเตอรี่ได้มีการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแล้ว
     

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกได้ ส่วนเรื่องของวงเงินที่จะมาสนับสนุนในเรื่องแบตเตอรี่นั้น เบื้องต้นก็กำลังพิจารณาตั้งกองทุนขึ้นมา แต่ทั้งหมดต้องดูความเหมาะสมอีกครั้ง

 

รองนายกฯ ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV)