เช็ครายชื่อ 6 ค่ายรถยนต์จีนตบเท้าแห่ลงทุน EV ในไทย

15 ม.ค. 2566 | 07:54 น.

ค่ายรถยนต์จากจีน ตบเท้าแห่ลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV ในประเทศไทย ล่าสุดพบว่ามีบริษัทต่าง ๆ เข้ามาลงทุนแล้วรวม 6 ราย เช็คข้อมูลแต่ละรายลงทุนอะไรบ้าง

อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ของประเทศไทย มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลออกนโยบายมาส่งเสริมด้วยมอบสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับนักลงทุน เพื่อดึงการจัดตั้งสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ก่อนจะต่อยอดให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค 

 

ล่าสุด นายเพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการ สายงานการลงทุนและการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เปิดเผยผ่านบทความ “ประเทศไทย” กับการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่สำคัญของโลก พบว่าในปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์หลายรายลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

 

ทั้งนี้เป็นผลจากความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของไทยเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดในทุกปี ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำทั้ง จีน ยุโรป และอเมริกา เลือกเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจำนวนมาก นำโดยค่ายรถจากจีน ดังนี้

 

ภาพประกอบข่าว อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ของประเทศไทย

MG : รถยนต์ค่ายนี้ มีฐานการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้วก็ประกาศที่จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย แน่นอน 

GWM : เป็นค่ายถัดมาที่เข้ามาลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2563 ผ่านการซื้อโรงงานต่อจากกลุ่ม GM โดยมีการตั้งเป้าหมายจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเรียบร้อยแล้วในปีนี้

BYD : นับเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่มียอดขาย EV เป็นอันดับ 1 ของโลกก็ตบเท้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยได้ซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม WHA ระยองกว่า 600 ไร่ เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงแบตเตอรี่ในอนาคตด้วย

Foxconn : ล่าสุด Foxconn ได้ร่วมทุนกับ บมจ.ปตท. บริษัทกลุ่มพลังงานยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย ก็ได้ประกาศการลงทุนกว่า 36,000 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดชลบุรี เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยเป็นการรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์อื่น ๆ อีกด้วย

NETA V : ล่าสุดแบรนด์นี้ได้ลงนามในสัญญากับโรงงานประกอบรถยนต์บางชัน เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย

Aiways : ถือเป็น startup จากจีนซึ่งที่ผ่านมาทำตลาดในยุโรปเป็นหลักก็ได้เปิดตัวในไทยเพื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาส และมีแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตรถแท็กซี่ไฟฟ้าในพื้นที่โครงการ EEC ในอนาคต 

ภาพประกอบข่าว อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ของประเทศไทย

 

นอกจากแบรนด์รถยนต์จากจีนแล้ว ปัจจุบันยังมีค่ายรถยุโรป ตัวอย่างเช่น ค่ายรถหรู Mercedes ที่ได้ลงนามในสัญญากับกรมสรรพสามิตเพื่อรับสิทธิประโยชน์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เช่นเดียวกับค่าย BMW ซึ่งปัจจุบันได้มีการผลิตรถรุ่น PHEV ที่โรงงานในจังหวัดระยองเป็นที่เรียบร้อย 

ส่วนค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งมีบานการผลิตรถยนต์ในไทยมานาน โดยในรายของ Toyota ที่ผ่านมาเหมือนจะยังไม่มีความชัดเจน แต่ก็ได้มีการเปิดตัวรถยนต์นั่งและรถกระบะไฟฟ้า ในงาน motor expo ที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตามนอกจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ในซัพพลายเชนของยานยนต์ไฟฟ้า ยังประกาศแผนลงทุนในไทย หลายราย เช่น กลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งนำโดยบริษัท EA ได้ลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเที่ยมในพื้นที่ EEC กำลังการผลิต 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และสามารถขยายไปถึงกำลังการผลิตที่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน 

เช่นเดียวกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น TÜV SÜD, Siemens, ABB, Continental, Michelin, Alba Group ซึ่งเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งสำหรับการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย