เปิดตัว 'รถไฟฟ้า EV' คันแรก SCG ดันใช้บรรทุกหินปูนในเหมืองแร่

01 ก.พ. 2565 | 05:45 น.

เอสซีจี เปิดตัว ' รถไฟฟ้า EV Mining Truck' เพื่อใช้ในเหมืองปูนซีเมนต์รายแรกของไทย ประเดิม 4 คันแรก ทดลองบรรทุกหินปูนหนัก 60 ตัน ก่อนเปลี่ยนผ่าน 100% ในปี 2568 หวังยกระดับการก่อสร้างไทยสู่ นโยบายลดก๊าซคาร์บอน

1 ก.พ.2565 - บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย(ทุ่งสง) จำกัด กลุ่ม เอสซีจี นำร่อง การใช้รถไฟฟ้า EV (EV Mining Truck) บรรทุกหินปูนหนัก 60 ตัน เป็นแห่งแรกในประเทศไทย

ซึ่งเป็นการร่วมมือของภาครัฐและองค์กรธุรกิจภาคเอกชน ในโครงการการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าที่รัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชนกระตุ้นให้เกิดการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก (GHG) ที่เกิดจากการสันดาปภายในของเครื่องยนต์ทั่วไป  

 

โดยในปีนี้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด นำรถบรรทุกหินปูนขนาด 60 ตัน ชนิดไฟฟ้า (EV Mining Truck) จำนวน 4 คัน นำร่องส่งมอบหินปูนด้วยพลังงานสะอาด และคาดว่าจะเปลี่ยนรถบรรทุกหินปูนเป็นชนิดไฟฟ้าได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2568 สามารถลด CO2 ได้รวม 1,148 ตัน CO2/ปี
 

รถไฟฟ้า EV เพื่ออุตสาหกรรม 

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  กล่าวว่า “กระทรวงฯ ขานรับนโยบายภาครัฐเพื่อบรรลุเป้าหมายของ COP26 ที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593  โดยการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมให้ภาครัฐ และเอกชนบูรณาการร่วมกันในการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และผลักดันให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการลงทุนและสนับสนุนผู้ประกอบการ รวมถึงเร่งผลักดันสิทธิประโยชน์และมาตรการรองรับด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมส่งเสริมและบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ ตามแนวนโยบาย BCG Model ของกระทรวงฯ ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 ได้อย่าง มีประสิทธิภาพ”

เปิดตัว 'รถไฟฟ้า EV' คันแรก SCG ดันใช้บรรทุกหินปูนในเหมืองแร่

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)  กล่าวว่า “กพร.มีนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีมาตรฐานที่ดี  ยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการให้มีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและยกระดับการประกอบอุตสาหกรรมแร่ของประเทศ สอดคล้องตามนโยบายการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining)  ซึ่งโครงการการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า EV Mining Truck เป็นประโยชน์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่นละออง  PM 2.5”

 

SCG ชูรถไฟฟ้า EV ลดปล่อยก๊าซคาร์บอน 

นายชนะ ภูมี Vice President – Cement and Green Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง   เอสซีจี กล่าวว่า  “เอสซีจี พร้อมสนับสนุนนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ตามความมุ่งหวังของเอสซีจีที่จะยกระดับการก่อสร้างไทย สู่ Green Construction เพื่อให้การก่อสร้างของประเทศเกิดการพัฒนา พร้อมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของเอสซีจีที่ยึดหลัก ESG 4 Plus ได้แก่ 

1. มุ่ง Net Zero ปี 2050 
2. Go Green 
3. Lean เหลื่อมล้ำ 
4.ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเป็นธรรม โปร่งใสในทุกการดำเนินงาน  

โดยคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และมีบรรษัทภิบาล รวมถึงธุรกิจ Cement and Green Solution  รวมถึงธุรกิจ Cement and Green Solution ยังมุ่งพัฒนาการดำเนินงานในระดับมาตรฐานสากลผ่านการนำเทคโนโลยีมาใช้และสร้างความร่วมมือต่างๆ กับองค์กรชั้นนำระดับโลก ในงานนี้เอสซีจีเดินหน้าร่วมเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวด้วยการทำเหมืองตามแนวทาง Green Mining นำร่องเปิดตัวการใช้งาน รถบรรทุกงานเหมืองแร่ ชนิดไฟฟ้า (EV Mining Truck) ขนาดบรรทุก 60 ตัน จำนวน 4 คัน เพื่อส่งมอบหินปูน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปูนซีเมนต์ ด้วยพลังงานสะอาด สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ได้ถึง 71.78 ตัน CO2/ปี/คัน หรือทดแทนการปลูกต้นไม้ได้ 7,555 ต้น/ปี”

เปิดตัว 'รถไฟฟ้า EV' คันแรก SCG ดันใช้บรรทุกหินปูนในเหมืองแร่

เอสซีจียังคงมุ่งหน้าดำเนินการเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งกระบวนการผลิต โดยตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนรถบรรทุกหินปูนให้เป็นชนิดไฟฟ้า 100% ซึ่งคาดว่า บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด จะเปลี่ยนได้ครบภายในปีพ.ศ. 2568 และจะขยายผลไปยังโรงงานปูนซีเมนต์อื่นๆ ในธุรกิจ Cement and Green Solution Business ต่อไป  รวม CO2 ที่จะลดได้ทั้งหมดเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นประมาณ  9,852 ตัน CO2/ปี