ยอดขายรถยนต์ปี 2564 ปิดตัวเลข 7.6 แสนคัน ร่วง 4% แบรนด์จีนคึก ค่ายญี่ปุ่นซึม

12 ม.ค. 2565 | 02:39 น.

ตลาดรถยนต์ไทยปี 2564 ปิดยอดขาย 7.6 แสนคัน ลดลงประมาณ 4% เมื่อเทียบกับปี 2563 ค่ายญี่ปุ่นยอดร่วงถ้วนหน้า มีเพียง “อีซูซุ” ที่ยอดเพิ่ม 1.6% สวนทางแบรนด์จีน “เอ็มจี” โต 9.5% ส่วน “เกรท วอลล์ มอเตอร์” ขายได้ 3,702 คันในระยะเวลา 6 เดือน

สรุปยอดขายรถยนต์รวมทุกยี่ห้อในปี 2564 ทำได้ 7.6 แสนคัน ลดลงประมาณ 4% เมื่อเทียบกับปี 2563 (7.92 แสนคัน) ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์และค่ายใหญ่ “โตโยต้า” ประเมินไว้ช่วงต้นปี 2564 ว่าตลาดรวมน่าจะเกิน 8 แสนคัน 

 

ทว่าตลอดทั้งปี อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต และบางโรงงานซัพพลายเออร์ต้องปิดชั่วคราว จากการที่พนักงานติดโควิด-19 ทำให้เสียโอกาสในการผลิตและการขายไปอย่างน้อย 4 เดือน ตั้งแต่ช่วงกลางปี ไปจนถึงไตรมาส 3

ยอดขายรถยนต์ปี 2564 ปิดตัวเลข 7.6 แสนคัน ร่วง 4% แบรนด์จีนคึก ค่ายญี่ปุ่นซึม

สำหรับ ยอดขายรถยนต์ปี 2564 ถ้าดูเป็นรายไตรมาส โดย 3 เดือนแรกของปี 2564 ยอดขายลดลง 3% และเมื่อถึงไตรมาสที่ 2 กลับมาเพิ่มขึ้น 13.6% แต่เมื่อรวม 9 เดือนถึงไตรมาสที่ 3 ตลาดปักหัวลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 จากนั้นตลาดเริ่มกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 หลังการคลายล็อคดาวน์ และรัฐบาลทยอยอนุญาตให้จัดกิจกรรม ผ่อนคลายการใช้ชีวิต และการทำธุรกิจต่างๆ ให้กลับมาเป็นปกติ โดยยอดขายในเดือนตุลาคมทำได้ 64,462 คัน พฤศจิกายน 71,716 คัน และธันวาคม ทะลุไป กว่า 9 หมื่นคัน

 

อย่างไรก็ตาม ยอดขายรถยนต์ปี 2564 ถ้าพิจารณายอดขายเป็นรายบริษัท (ในกลุ่มแมส ไม่รวมรถพรีเมี่ยม) พบว่าแบรนด์รถญี่ปุ่นเกือบทุกรายยอดขายลดลง ทั้ง โตโยต้า 239,723 คัน ร่วง 1.8% ฮอนด้า 88,692 คัน ลดลง 4.6% มิตซูบิชิ 47,188 คัน ลดลง 17.8% มาสด้า ขายไป 35,384 คัน ลดลง 9.8% และนิสสัน ที่ร่วงบักโกรก 33.3% ด้วยยอดขาย 29,696 คัน

 

ในตลาดรถแมส มีเพียง อีซูซุ เอ็มจี และฟอร์ด มียอดขายเป็นบวกเมื่อเทียบกับปี 2563 ด้วยอัตราเติบโต 1.6% 9.5% และ 8.3% ตามลำดับ

สำหรับเอ็มจี ที่ทำยอดขายรถยนต์ปี 2564 ได้ 31,005 คัน แม้ยอดขายจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 42,000 คัน(เคยประกาศช่วงต้นปี 2563) ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 และปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต โดยรถรุ่นที่ขายดีคือ MG ZS และ MG 5 โฉมใหม่

ยอดขายรถยนต์ปี 2564 ปิดตัวเลข 7.6 แสนคัน ร่วง 4% แบรนด์จีนคึก ค่ายญี่ปุ่นซึม

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดเอสยูวี ถือเป็นหนึ่งในตลาดหลักของเอ็มจี ที่บริษัทมียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันทำตลาดใน 2 กลุ่มหลักคือ บี-เอสยูวี MG ZS และ ซี-เอสยูวี รุ่น MG HS

 

ในปี 2564 เอ็มจีมียอดขายรถยนต์ในกลุ่มเอสยูวี รวม 16,014 คัน แบ่งเป็นบี-เอสยูวี ในรุ่น MG ZS และ MG ZS EV รวมอยู่ที่ 11,245 คัน และซี-เอสยูวี ในรุ่น MG HS และ MG HS PHEV รวม 4,769 คัน

 

“ปีนี้เอ็มจีมีแผนแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ลงตลาด ซึ่งมั่นใจว่าจากความโดดเด่นของตัวผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านเทคโนโลยี ความทันสมัย และคุณค่าของรถเอ็มจีทุกรุ่น จะมอบประสบการณ์การขับขี่ที่ดีให้กับลูกค้าคนไทย และทำให้เรายังคงเป็นผู้นำในกลุ่มเอสยูวีอย่างแน่นอน” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

 

ด้าน เกรท วอลล์ มอเตอร์ น้องใหม่จากจีนที่เริ่มขายรถในไทยเป็นปีแรก โดยส่งมอบ Haval H6 ในเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 ได้เกือบ 3,000 คัน ส่วน Ora Good Cat EV ที่นำเข้าจากจีนส่งมอบได้ประมาณ 300 คัน ที่เหลือเป็นบี-เอสยูวี Haval Jolion โดยปี 2565 เกรท วอลล์ มอเตอร์ เตรียมเปิดตัวรถใหม่เพิ่มเติม และที่ยืนยันแล้วคือ Haval H6 ขุมพลังปลั๊กอินไฮบริด และแบรนด์ใหม่ Tank 500 ไฮบริด ซึ่งเป็นเอสยูวีประกอบในเมืองไทยทั้งคู่

ทั้งนี้ ยอดขาย เกรท วอลล์ มอเตอร์ รวมทั่วโลกในปี 2564 ทำได้ 1.28ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า (ไฮบริด,ปลั๊กอินไฮบริด,อีวี) 136,953คัน คิดเป็น 10.7% ของยอดขายทั้งหมด

ยอดขายรถยนต์ปี 2564 ปิดตัวเลข 7.6 แสนคัน ร่วง 4% แบรนด์จีนคึก ค่ายญี่ปุ่นซึม

นอกจาก เกรท วอลล์ มอเตอร์ และเอ็มจี ที่ลงหลักปักฐานในไทยอย่างแข็งแกร่งแล้ว ในปี 2565 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะมีผู้เล่นรายใหม่ ซึ่งเป็นทุนใหญ่ของจีนอีกอย่างน้อย 2 ราย คือ “ฉางอัน ออโตโมบิล” ที่จะเข้ามาบุกตลาดด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และโปรตอน แบรนด์มาเลเซีย แต่เจ้าของคือ จีลี่ ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน