ฟอร์ด ส่งออกพุ่ง 41% ค่ายรถยิ้มค่าเงินบาทอ่อน ชดเชยยอดขายในประเทศ

01 ต.ค. 2564 | 03:03 น.
อัพเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2564 | 10:08 น.

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในไทยยิ้มได้ หลังออร์เดอร์ส่งออกพุ่ง บวกกับค่าเงินบาทอ่อน 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ช่วยเพิ่มรายได้เพื่อชดเชยกับตลาดในประเทศซบ โดยยอดขายเดือนสิงหาคม 2564 เหลือ 42,176 คัน ต่ำสุดในรอบปี

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานยอดขายตลาดรถยนต์รวมเดือนสิงหาคม 2564  ทำได้ 42,176 คัน ต่ำสุดในรอบปี หลังจากเดือนกรกฎาคมเคยต่ำสุดด้วยยอด 52,442 คัน ส่วนยอดขายสะสม 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.64)  467,809 คัน เพิ่มขึ้น 2.4% โดยสถานการณ์ขณะนี้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หวั่นว่ายอดขายรวมทุกยี่ห้ออาจจะไม่ถึง 8 แสนคันตามเป้าหมายที่เคยประเมินกันไว้

 

นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด   เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ฤดูฝนช่วง “โลว์ ซีซัน” เป็นอุปสรรคสำคัญในการขาย ประกอบกับความความกังวลต่อการระบาดของโควิด -19 และสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ด้วยหลายเหตุปัจจัยต่างๆ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวม และกระทบความสามารถในการซื้อรถยนต์ของลูกค้า

ฟอร์ด ส่งออกพุ่ง 41% ค่ายรถยิ้มค่าเงินบาทอ่อน ชดเชยยอดขายในประเทศ

ด้านแหล่งข่าวจาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด  เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีหลังตลาดต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้ง ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ทำให้ยอดการสั่งซื้อมีเข้ามากขึ้น ทำให้บริษัทต้องปรับแผนการผลิตเพื่อรองรับกับการส่งออก

 

ล่าสุดโตโยต้า ปรับเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ในปี 2564 รวมจาก 3 โรงงานในไทยคือ สำโรง เกตเวย์ และบ้านโพธิ์ เพิ่มเป็น 3.22 แสนคัน จากที่เคยวางไว้ 2.54 แสนคันในช่วงต้นปี

 

นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรก 2564 ยอดส่งออกของฟอร์ดโต 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คาดกำลังการผลิตรวมของฟอร์ดในปีนี้จาก 2 โรงงานคือ FTM กับ AAT จะทำได้กว่า 2 แสนคัน ใกล้เคียงกับี 2563

 

“ตอนนี้ภาพรวมของตลาดต่างประเทศดีขึ้น แม้ภาคการผลิตยังมีปัญหาจากการขาดแคลนชิป ซึ่งฟอร์ดได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มาก โดยโรงงานบริหารจัดการแรงงาน เช่น ลดกะทำงาน หรือปิดสายการผลิตเป็นช่วงๆ 3-5 วัน”

ปีนี้ฟอร์ด ประเทศไทย ส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนยอดขายในประเทศ 8 เดือนที่ผ่านมา ทำได้ 20,467 คัน โต 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเติบโตมากกว่าตลาด ขณะที่ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี ตลาดรวมน่าจะทำตัวเลขได้เพิ่มกว่า 2 แสนคัน ส่งผลให้ตัวเลขทั้งปีถึง 7.5 แสนคันเท่านั้น

ฟอร์ด ส่งออกพุ่ง 41% ค่ายรถยิ้มค่าเงินบาทอ่อน ชดเชยยอดขายในประเทศ

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รายงานว่า การผลิตรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2564 มีทั้งสิ้น 104,144 คัน ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ลดลงจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว 11.18% และน้อยกว่าเดือนกรกฎาคมปีนี้ 15.44% เพราะต้องชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่นจากการขาดชิปและชิ้นส่วนของรถยนต์จากการระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้ผู้ผลิตชิปและชิ้นส่วนรถยนต์ต้องปิดโรงงานชั่วคราว

 

ส่วนยอดขายในเดือนสิงหาคม 2564 มีจำนวน 42,176 คัน ต่ำสุดในรอบ 15 เดือนจากการล็อกดาวน์ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้ากังวลรายได้ในอนาคต จึงถอนมัดจำและเลื่อนการรับรถ ประกอบกับมีการชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่นที่ยังมีการจองอยู่แต่ขาดชิปและชิ้นส่วน จึงไม่สามารถส่งมอบให้ลูกค้าได้

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มฯยังประเมินการผลิตรถยนต์ในปีนี้ 1.55-1.6 ล้านคัน โดยยังคงเป้าการขายในประเทศไว้เท่าเดิมที่ 7.5 แสนคัน แต่ปรับเป้าหมายการส่งออกเพิ่มเป็น 8.0-8.5 แสนคัน หลังจากยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าของไทยกลับมาฟื้นตัว ทั้ง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย และภูมิภาคยุโรป

 

โดยการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ตั้งแต่เดือนมกราคม - สิงหาคม 2564  จำนวน 603,650 คัน เพิ่มขึ้น 31.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีมูลค่าการส่งออก 349,875.70 ล้านบาท  ขณะเดียวกันประเทศคู่ค้าได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์เกือบเป็นปกติแล้ว จึงทำให้การส่งออกเครื่องยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ส่วนค่าเงินบาท วันที่ 30 กันยานยน 2564 อยู่ในระดับ 33.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มทะลุ 34 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามการวิเคราะห์นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนไทย