รู้จักสนามทดสอบ ฮอนด้า มูลค่า 1.7 พันล้าน

29 ก.ค. 2560 | 04:36 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

บริษัท ฮอนด้าอาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (HRAP) ที่มีศูนย์บัญชาการในประเทศไทย เพิ่มศักยภาพงานค้นคว้าวิจัยและพัฒนา ด้วยการเปิดสนามทดสอบยานยนต์ ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดปราจีนบุรี บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ ด้วยเงินลงทุน 1.7 พันล้านบาท

โดยสนามทดสอบแห่งนี้จะเพิ่มบทบาทให้ HRAP จากเดิมแค่วางแผนผลิตภัณฑ์และการควบคุมคุณภาพ แต่จากนี้ไปจะรับผิดชอบงานด้านการวิจัยและพัฒนารถยนต์แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายแต่จำกัดโปรดักต์ในระดับ “รีจินัล โมเดล” (Regional Model) ยังไม่ได้ถึงขั้นโกลบัลโมเดล (Global Model)

“สนามทดสอบเพิ่งจะเปิดตัวและได้รับใบอนุญาต เราจะเริ่มทดสอบโมเดลในเดือนตุลาคมนี้ โดยหลักๆจะทำการทดสอบโมเดลที่ผลิตป้อนตลาดในภูมิภาคเอเชีย โอเชียเนีย และในอนาคตถึงจะขยายไปสู่โกลบัล โมเดล ซึ่งไทยเป็นประเทศที่3 ที่มีสนามทดสอบของฮอนด้า ต่อจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา” นายฮิเดโอะ โคมูระประธานบริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด กล่าว

MP36-3282-1 สำหรับสนามทดสอบจะประกอบด้วย 8 สถานี มีความยาวรวมประมาณ 8 กม.รองรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ คือ

1. สนามรูปวงรี(Oval Course) : ความยาว 2.18 กม.ใช้ทดสอบสมรรถนะของรถยนต์ในขณะขับด้วยความ เร็วสูง รวมถึงการทดสอบ อื่นๆ เช่น ระดับเสียงของลมที่เข้ามาในห้องผู้โดยสาร และการควบคุมพวงมาลัย

2. สนามทางโค้ง (Winding Course) :ความยาว 1.38 กม.ใช้ทดสอบสมรรถนะโดยทั่วไป รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพของระบบเบรก และการควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง สนามทดสอบทางโค้งนี้มีการจำลองถนนที่มีการขึ้น-ลง และถนนที่มีมุมอับสายตา รวมมีทางโค้งทั้งหมด 17 โค้ง

3. สนามทดสอบไดนามิกส์ (Vehicle Dynamics Area): เป็นสนามทดสอบที่เชื่อมต่อกับสนามทดสอบรูปวงรีใช้ทดสอบการควบ?คุมการทรงตัวของรถขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง และทดสอบประสิทธิภาพของการเบรก ขณะเข้าทางโค้งแบบหักศอก

4. สนามที่มีนํ้าท่วมขัง (Wet Course) : จำลองสภาพถนนที่เปียกและลื่น ใช้ทดสอบผลกระทบของนํ้าท่วมขังที่มีต่อสมรรถนะ?ของรถยนต์ ประกอบด้วยPool Road, Splash Road, Wet Brake Road โดยสนามนี้สามารถปรับระดับความลึกของนํ้าได้ตั้งแต่ 0-1,000 มม.เพื่อจำลองสถานการณ์นํ้าท่วม ที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยในทวีปเอเชีย โดยเป็นการทดสอบการกันนํ้าและผลกระทบต่อห้องเครื่องยนต์

5. สนามทดสอบสภาพพื้นผิวถนนในรูปแบบต่างๆ (Ride Road Course): จำลองสภาพพื้นผิวถนนของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียใช้ทดสอบสมรรถนะทั่วไปบนพื้นผิวถนนที่แตกต่างกัน โดยมีถนนลักษณะต่างๆ ถึง 8 รูปแบบ อาทิ ถนนคอนกรีต (Concrete Highway) ถนนยางมะตอยที่มีพื้นผิวชำรุด (Noise Road) และถนนลาดเอียง (Camber Road)

6. สนามที่มีพื้นผิวพิเศษ (Special Surface Courses) : ถูกสร้าง?ด้วยเทคโนโลยี 3 มิติ เพื่อจำลองพื้นผิวถนนที่ขรุขระ ใช้ทดสอบความทนทานของช่วงล่างรถยนต์ โดยมีพื้นผิวถนนลักษณะต่างๆ ถึง 8 รูปแบบ อาทิถนนที่จำลองลูกระนาด (Speed Breaker) และถนนคอนกรีตที่มีพื้นผิวขรุขระ (Concrete Rough Road)

MP36-3282-2 7. สนามทางลาดชัน (Slope Course): ใช้ทดสอบความแข็งแกร่งของเครื่องยนต์ และประสิทธิภาพของระบบเบรก

8. สนามทางตรง (Straight Course): ความยาว 1.2 กม. ใช้ทดสอบอัตราการประหยัดนํ้ามัน และอัตราการเร่งความเร็วหลังจากออกตัว

ทั้งนี้ บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด เริ่มจากงานวิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์ก่อนในปี 2531 ส่วนรถยนต์เริ่มเมื่อปี 2537 ผลงานที่ผ่านมาคือ บริโอ้, บริโอ้ อเมซ, โมบิลิโอ และบีอาร์-วี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,282 วันที่ 27 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560