KKP ปรับเพิ่มเป้าสินเชื่อปี 65โต 16% จากเดิม 12%

03 ส.ค. 2565 | 05:50 น.

"กลุ่มภัทรเกียรตินาคิน-KKP" ปรับเพิ่มสินเชื่อปี65โต 16% หลังครึ่งแรกทำได้แล้ว 6%ชู “สินเชื่อเช่าซื้อ-บ้าน” หนุน - ลั่นเดินหน้าธุรกิจฝ่าความเสี่ยง-เตรียมส่ง "เคเคพี ไดม์" รุกฐานบุคคลรายย่อยผ่านบริการอิเล็คทรอนิกส์ครบวงจร

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร(KKP) เปิดเผยว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้กลุ่มธุรกิจยังให้น้ำหนักกับการเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยปรับเพิ่มเป้าสินเชื่อเป็น 16%จากครึ่งปีแรกขยายตัวได้แล้ว 10%จากที่ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ระดับ 6% โดยได้รับแรงหนุนจากสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อเช่าซื่อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน

 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องในระยะต่อไป  คือ การให้ความช่วยเหลือลูกค้าหรือผู้ประกอบการ  เพราะแม้ว่าสัญญาณเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแต่ยังไม่กลับสู่ระดับก่อนโควิด

ดังนั้น ยอมรับว่ายังมีลูกค้าบางส่วนที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยด้วย แต่ลูกค้าในความช่วยเหลือได้ปรับลดลงเหลือต่ำกว่า 10% เช่น ธุรกิจโรงแรมบางราย หรือในส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการเองก็ไม่เน้นลงทุนโครงการใหม่ โดยภาพรวมลูกค้ากลุ่มคอร์ปอเรตนั้นส่วนใหญ่มีความแข็งแรงขึ้นจึงไม่เป็นประเด็นให้กังวลใจนัก  ขณะที่รายย่อยที่เข้ามาขอรับความช่วยเหลือแค่หลักร้อยเท่านั้น

 

ขณะเดียวกันจะกระจายแหล่งรายได้รองรับสถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจทวีความผันผวนในอนาคต โดยกลุ่มธุรกิจฯ มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากพัฒนาการทางเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ที่ลดข้อจำกัดด้านขนาดหรือเครือข่ายและทำให้ธนาคารแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม อาทิ

 

ธุรกิจ KKP Edge ที่นำเสนอบริการ Wealth Management ในแบบที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้างมากยิ่งขึ้น หรือธุรกิจ Dime ที่กำลังจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบ Digital ในเร็วๆ นี้

“ เราเห็นโอกาสที่จะขยายฐานธุรกิจจากบุคคลรายใหญ่ไปสู่ลูกค้าบุคคลรายเล็กลงมาภายใต้การดำเนินธุรกิของบริษัท เคเคพี ไดม์ โดยเน้นให้บริการลงทุนและเงินฝากผ่านระบบดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่กำลังเจริญเติบโต Mass Affluence”

 

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ KKPกล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป ธนาคารยังคงต่อยอดจากธุรกิจที่มีความชำนาญ ไม่ว่าการปรับปรุงระบบและกระบวนการภายในเพื่อการพิจารณาสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้นผ่านแอป KKP Mobile

 

การเดินหน้าผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างสินเชื่อ 'รถเรียกเงิน' รวมทั้งการขยายเครือข่ายการให้บริการผ่านการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าที่มีความแข็งแกร่ง นอกจากนั้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน ธนาคารยังมุ่งเสริมสร้างความแข็งแรงทางการเงินให้กับลูกค้าผ่านการเชื่อมโยงบริการธนาคารเข้ากับบริการด้านการลงทุนที่เป็นความชำนาญของกลุ่มธุรกิจฯ มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ที่ผ่านมา สินเชื่อของธนาคารครึ่งปีแรก 2565 มีรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยถึงร้อยละ  69 โดยหลักมาจากกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน ไม่ว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่โตขึ้นกว่าร้อยละ 11 หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่โตขึ้นร้อยละ 19 

 

นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ครึ่งปีแรก 2565 กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 4,089 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.1 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน  672 ล้านบาท

 

ในส่วนของการตั้งสำรองสำหรับครึ่งแรกของปี 2565 ปรับลดลงตามคุณภาพของสินเชื่อที่ยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ดี โดยมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 169.1

 

นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 8,779 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 3,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากครึ่งปีแรก 2564 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio)คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงถึงสิ้นไตรมาส 2/2565  อยู่ที่ร้อยละ 16.56 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับร้อยละ 12.99