ttb หวั่นนำเข้าสูงต่อเนื่อง สวนทางส่งออกชะลอ ฉุดฟื้นตัวศก.ไทย

02 ส.ค. 2565 | 12:17 น.

“นริศ สถาผลเดชา” ชี้ความเสี่ยงยังสูง ห่วงครึ่งปีหลังนำเข้าพุ่ง แต่สภาพคล่องในตลาดโลกตึง หวั่นฉุดส่งออกไทยชะลอ จับตาชะลอตัวสูงสุดต้นปี 66 ขณะประชาชนรายย่อยติดกับดักหนี้ครัวเรือน ท่ามกลางเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ เพื่อสะกัดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงถดถอยและมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

 

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคาร ทหารไทย ธนชาตหรือทีทีบี (ttb analytics)สะท้อนภาพผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มองไปข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะถดถอย สัญญาณดอกเบี้ยที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นควบคู่กับอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสภาพคล่องในตลาดโลกเริ่มตึงตัว ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามดูว่า จะทำให้การค้าโลกถูกกระทบขนาดไหน

ttb หวั่นนำเข้าสูงต่อเนื่อง สวนทางส่งออกชะลอ ฉุดฟื้นตัวศก.ไทย

ทั้งนี้ หากการค้าโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สภาพคล่องในตลาดโลกตึงตัวมาก ย่อมส่งผลต่อภาคส่งออกของไทยชะลอลงอย่างแน่นอน ซึ่งสัญญาณการชะลอตัวของภาคส่งออกจะเริ่มเห็นในครึ่งหลังของปีนี้และเริ่มชะลอตัวสูงสุดในต้นปี 2566

 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยคือ ทิศทางการนำเข้าที่ยังสูงต่อเนื่อง สวนทางภาคส่งออกที่ชะลอตัว จึงเป็นความเสี่ยงสูงในมุมที่ต้องระมัดระวัง เพราะเศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวไม่ดีตามที่คาด แต่ก็ยังมีปัจจัยหนุน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีสัญญาณบวกในปีนี้ที่อาจจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยประมาณ 8 ล้านคน

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทนั้น แนวโน้มยังอ่อนค่าคาดว่า สิ้นปีจะอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ จากแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยของประเทศพัฒนาแล้ว พร้อมทั้งลดการอัดฉีดสภาพคล่อง และการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ในครึ่งหลัง

 

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยภายในจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังไม่ฟื้นตัวกลับมา ทั้งนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังมีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่องส่งให้ความต้องการเงินบาทไม่กลับมา

 

ต่อข้อถามถึงอุตสาหกรรมธนาคารนั้นนายนริศกล่าวว่า ภาพรวมระบบสถาบันการเงินและระบบการเงินของไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น หากเทียบกับอดีต ด้วยเงินกองทุนและสภาพคล่องอย่ในระดับสูง มองไปข้างหน้าแนวโน้มระบบธนาคารพาณิชย์จะลดการพึ่งพาสาขา โดยมีการลงทุนในระบบแพลตฟอร์มทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีมากขึ้น เห็นได้จากระบบธนาคารจะมีการลงทุนด้านไอทีในระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ทุกคนต่างตระหนักถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในแง่การ เติบโตจึงเน้นความระมัดระวัง ขณะที่ภาคการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงโดยไม่เติบโตแรงเช่นเดิม แม้ว่า ภาคบริการอาจจะกลับมาทดแทนภายหลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทย

 

ส่วนรายย่อยยังคงมีข้อจำกัดในการก่อหนี้จากปัญหาหนี้ครัวเรือนกับภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นทำให้ธนาคารในระบบต่างระมัดระวัง เนื่องจากกลุ่มรายย่อย รายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวทำให้เหลือเงินใช้จ่ายและชำระหนี้เดิม

 

“ครึ่งปีหลัง จึงมองภาพรวมธุรกิจแบงก์ไม่ฮอตเช่นครึ่งปีแรกที่ได้โมเมนตัมจากการเปิดเมือง และสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยที่ดีกว่าคาดคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะช่วยหนุนภาคบริการ ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์จะปรับเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่่ดอกเบี้ยในตลาดได้ปรับขึ้นไปแล้ว ทำให้ต้นทุนในการกู้ของธุรกิจรายใหญ่สูงขึ้น สำหรับสินเชื่อรายย่อยอาจจะเห็นการเติบโตไม่แรง” นายนริศกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มระบบธนาคารพาณิชย์จะลดการพึ่งพาสาขาและมีการลงทุนในระบบ แพลตฟอร์มทางการเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีมากขึ้นโดยยังเห็นการลงทุนด้านไอทีในระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,805 วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565