ผู้บริโภค 96% ชี้ธุรกิจควรนำ ESG มาเป็นส่วนของการดำเนินธุรกิจ

29 ก.ค. 2565 | 03:59 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผย ผู้บริโภค 96% ชี้ภาคธุรกิจควรนำ ESG มาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ และ 85.7% นำประเด็นด้าน ESG มาพิจารณา เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน ยินดีแบ่งสัดส่วน 10-20% เพื่อลงทุนธุรกิจด้าน ESG แม้ผลตอบแทนต่ำ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยผลสำรวจพฤติกรรมและมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มความสนใจลงทุนด้านความยั่งยืนในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล (ESG) พบว่า  ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นในกรอบไม่เกิน 20% เมื่อเทียบกับราคาปกติ

ผู้บริโภค 96% ชี้ธุรกิจควรนำ ESG มาเป็นส่วนของการดำเนินธุรกิจ

ขณะที่ความน่าเชื่อถือ และผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมด้านการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคพิจารณาเพื่อซื้อสินค้าประเภทเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคให้ความสนใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เช่น อาหาร เครื่องดื่ม สบู่ แชมพู ผงซักฟอก

ผู้บริโภค 96% มองว่าภาคธุรกิจควรนำประเด็นด้าน ESG มาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ และยินดีแบ่งสัดส่วนการลงทุน จำนวน 10-20% เพื่อลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินการด้าน ESG ถึงแม้ว่าอาจจะได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าผลตอบแทนโดยเฉลี่ยในตลาด

ผู้บริโภค 96% ชี้ธุรกิจควรนำ ESG มาเป็นส่วนของการดำเนินธุรกิจ

“ปัจจุบันผู้บริโภคมีความตระหนักและใส่ใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากการเผชิญกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ปัญหาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เรื่อยมาถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน”

ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อผู้บริโภค ทั้งจากปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรในช่วงที่เกิดภัยธรรมชาติหรือสภาพอากาศแปรปรวน ค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาสุขภาพที่เกิดปัญหามลพิษ เช่น โรคทางเดินหายใจจากไฟป่า PM 2.5 หรือผลกระทบจากมลพิษทางกลิ่นจากปริมาณขยะที่มากเกินความสามารถในการจัดการ

 

จากผลสำรวจจึงพบว่า  ผู้บริโภคกว่า 66.3% เต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงกว่าสินค้าปกติทั่วไปไม่เกิน 20% ขณะที่ผู้บริโภคส่วนน้อย 3.4%เท่านั้น ที่เต็มใจจะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาเท่าเดิมหรือไม่แตกต่างจากสินค้าปกติทั่วไป

ผู้บริโภค 96% ชี้ธุรกิจควรนำ ESG มาเป็นส่วนของการดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้บริโภคจะมองว่า ราคาของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปตามท้องตลาด แต่หากผู้ประกอบการให้ข้อมูลด้านอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค จะช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความคุ้มค่าในการจ่ายเงิน เนื่องจากผู้บริโภคที่ทำการตอบแบบสำรวจถึง 32.0% มองว่า สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสินค้าที่มีราคาแพง และอีก 10.7% มองว่า สินค้าดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง

 

ดังนั้น หากธุรกิจสามารถผลิตสินค้าและบริการจำหน่ายในราคาที่ไม่สูงขึ้นมากนัก หรือมีการเสนอโปรโมชันลดราคา ด้วยการกำหนดให้ผู้บริโภคต้องนำภาชนะ เช่น ถุง แก้ว บรรจุภัณฑ์ มาเอง ควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ด้านการลดปัญหาหรือผลกระทบที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมจากตัวผลิตภัณฑ์ ก็น่าจะจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มมากขึ้น

 

สำหรับประเด็นด้านประเภทของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคให้ความสนใจหากมีการดำเนินการด้านการลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม จากผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีโอกาสทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสนใจที่จะซื้อสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นอันดับแรก โดยจาก การสำรวจพบว่า

 

นอกจากนั้นผู้บริโภคกว่า 71.4% สนใจที่จะหันมาเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาได้แก่ สินค้าอุปโภคและของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ แชมพู ผงซักฟอก จำนวน 49.3% โดยพบว่า สินค้าทั้ง2 ประเภทที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากที่สุดเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวัน  ทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีโอกาสทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น

 

สำหรับกิจการด้าน ESG ที่ผู้บริโภคสนใจลงทุนมากที่สุด ได้แก่ กิจการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ (72.8%) ตามด้วย เทคโนโลยีชีวภาพ เช่น พลาสติก ที่ย่อยสลายได้หรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (50.1%) และเทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่ม เช่น อาหารที่ทำจากพืช (46.7%)