เฟด มองพลาดอัดยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ นับถอยหลังสู่สงครามเงินเฟ้อ-ฟองสบู่

13 มิ.ย. 2565 | 02:15 น.

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ระบุธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด มองพลาดกระตุ้นยาแรงลงเศรษฐกิจ ติดกระดุมเม็ดแรกผิด หลังจากเจอโควิดกระหน่ำ ผลสุดท้ายสถานการณ์ไม่หนักตามคาด นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมาทั้ง ฟองสบู่ และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูง

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย  โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Kobsak Pootrakool โดยระบุว่า ความผิดพลาดที่แท้จริงของเฟด

 

ถ้าจะถามว่า เรามาอยู่สถานการณ์นี้ได้อย่างไร เราพลาดตรงไหน คำตอบคงต้องบอกว่า กระดุมเม็ดแรกที่ติดผิดไป ก็คือ เราอ่านสถานการณ์โควิดผิด เมื่อ 2 ปีก่อน

 

ความผิดพลาดดังกล่าว ได้นำไปสู่การทำนโยบายที่ให้ยาแรงเป็นพิเศษ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ด้วยความกลัวของทุกคนว่า เมื่อโควิด-19 กระจายไปที่ต่างๆ คนจะล้มตายเป็นจำนวนมาก และเศรษฐกิจจะต้องปิดตัวเป็นระยะเวลานาน เพื่อหยุดยั้งการระบาด

 

จนกระทั่ง หลายคนพูดกันไปว่า อาจเกิด Great Depression เหมือนช่วงปี 1929 ที่มีคนตกงาน 25% หรือ 1/4 และจะต้องใช้เวลานานนับสิบปีในการแก้ไข ด้วยเหตุนี้ นโยบายการเงินของเฟด หรือธนาคารกลางสหรัฐ (และธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก) ตลอดจนนโยบายการคลังของสหรัฐ ต่างได้ช่วยกันอย่างสอดประสาน ในการเข้าดูแลเศรษฐกิจ

 

กดดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดิน และสัญญาณที่ส่งว่าจะต่ำไปอีกนาน อัดฉีดสภาพคล่องจำนวน 5 ล้านล้านดอลลาร์สู่ระบบ เพิ่มมาตรการทางการคลังมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังท่านไบเดนชนะเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้ ต่างช่วยในการกระตุ้นดูแลเศรษฐกิจเป็นอย่างดียิ่ง

 

แต่สิ่งที่ผิดคาด ก็คือ โควิดไม่ได้ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจอย่างที่คิด เมื่อผ่านช่วงปิดเมืองช่วงแรกไปได้ เศรษฐกิจก็เริ่มกลับมาขยับเขยื้อนได้ ยิ่งเมื่อมีวัคซีนอย่างรวดเร็วเพียง 8-9 เดือนหลังจากการเริ่มระบาด คนก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้นต่างจากที่เคยกลัวกันไว้ เรียกว่า หนังคนละม้วน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ยาแรงที่ใช้ไป ก็เลยเกินขนาด คนไข้ฟื้นก่อนคาด แต่ยากระตุ้นยังอยู่เต็มตัว ทั้งหมด จึงนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่ตามมาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ จากเงินที่พิมพ์เข้าไปเศรษฐกิจที่ตึงตัวเป็นพิเศษ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ Core Inflation ของสหรัฐ ที่ได้หักเอาส่วนที่เป็นพลังงานและอาหารสดออกไปเรียบร้อยแล้ว

 

ซ้ำร้าย เมื่อเงินเฟ้อเริ่มผงกหัว และเริ่มขึ้นมา เฟดยังมองพลาดอีกครั้ง มองว่าเงินเฟ้อดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว มาจากการดีดขึ้นมาของราคาต่างๆ หลังเศรษฐกิจฟื้น เป็นเพียงเรื่อง Supply Shocks เท่านั้น และคาดการณ์ต่อไปว่า เมื่อทุกอย่างเข้าที่เป็นปกติ เงินเฟ้อจะลดลงกลับไปที่ 2% ด้วยตัวมันเองในที่สุด

 

แต่ความจริงที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง ที่คนไม่ค่อยจะพูดถึงกัน ก็คือ เงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก "ยาแรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟด" เอง จากดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นพิเศษ  และจากการพิมพ์เงินอัดฉีดจำนวนมากไปในระบบ ทำให้เศรษฐกิจหรือคนไข้คึกคักเกินคาด ทำให้เกิดฟองสบู่ในที่ต่างๆ มากมาย สะสมเป็นปัญหา  

 

ยิ่งมีปัจจัยด้าน Supply เช่น ราคาน้ำมัน ราคา Commodities ขึ้นแรง ระหว่าง Post Pandemic Boom ซึ่งมองเห็นกันได้ง่ายกว่า จึงพากันเชื่อว่า เงินเฟ้อที่เกิด มาจาก Supply Shock แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

 

มองข้าม "ยาแรงของเฟด" ที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและยังไม่ได้ถอน ซึ่งกำลังทำงานอยู่อย่างเงียบๆ ด้านหลัง ในการก่อให้เกิดเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการยกระดับของเงินเฟ้อพื้นฐานในระบบ ที่อาจจะไม่กลับปกติเป็น 2% ด้วยตัวของมันเอง

พูดให้ชัดๆ เงินเฟ้อที่เรากำลังต่อสู้ ลึกๆ แล้ว มีต้นตอมาจากด้าน Demand เช่นกัน การที่เงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐสามารถขึ้นมาทะลุ 6% เทียบปีก่อนหน้า น่าจะทำให้เราเฉลียวใจว่า เงินเฟ้อบางส่วนไม่ได้มาจาก Supply shocks อย่างที่เฟดและทุกคนคิด แต่มาจากนโยบายสุดขั่วที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

การอ่านสถานการณ์ผิดเกี่ยวกับ 1.ที่มาของเงินเฟ้อ และ 2. แนวโน้มของเงินเฟ้อ ทำให้เฟดพลาดในเรื่องที่สอง คือ "การถอนยาช้า" เนื่องจากเฟดคิดว่า เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง Supply เป็นหลัก เฟดก็เลยคิดว่า สามารถชะลอการถอนยาไว้ได้อีกเล็กน้อย 

 

การถอนยาช้า ทำให้เงินเฟ้อสามารถฝังรากไปในระบบได้ลึกขึ้น และฟองสบู่ที่เกิดขึ้นจากยากระตุ้นขนานแรง จึงใหญ่เป็นพิเศษ จึงกล่าวได้ว่า นอกจากเฟดจะใส่ยาแรงเกินต้องการแล้ว ยังถอนยาช้ากว่าที่ควรด้วย 

 

ความผิดพลาดทั้งสองเรื่อง กำลังนำไปสู่ "สงครามของเฟดกับเงินเฟ้อ" และ "สงครามของเฟดกับฟองสบู่" ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ เพื่อสะสางปัญหา

 

ส่วนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้นแบบเกินคาดและลุกลามกว่าคิด ก็ได้ซ้ำเติม ทำให้การแก้ไขปัญหาของเฟดยากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกรอบ และยิ่งทำให้ทุกคนมองพลาดไปที่ Supply Factors มากยิ่งขึ้น 

 

มาลุ้นกันครับว่า เฟดจะทำอะไรต่อไป ในการแก้ปัญหาที่ตนเองก่อไว้ (อย่างไม่ได้ตั้งใจ) เฟดจะต้องใช้ "ยาแรง" แค่ไหนในการถอน "ยาแรงขนานแรก" ที่ใส่ไปช่วงโควิด

 

สุดท้าย มาลุ้นกันว่า "ยาแรงของเฟด" ในการเร่งขึ้นดอกเบี้ย เร่งถอนสภาพคล่อง จะนำไปสู่ความปั่นป่วน และสร้างความเสียหายตามมาอีกมากน้อยแค่ไหน ให้แก่นักลงทุน ระบบเศรษฐกิจ และ Emerging Markets