"4 ธีมการลงทุน" เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐ Soft Landing

11 มิ.ย. 2565 | 22:09 น.

ดร.อมรเทพ แนะ 4 ธีมการลงทุน ในภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะ Soft Landing ได้แก่หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี กองทุนรวมหุ้นและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมหุ้นจีน และตราสารหนี้ระยะสั้น

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย  ระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขึ้นต่อเนื่องหลังจากปรับขึ้นไปแล้ว 0.25% ในเดือนมีนาคม และส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในแต่ละรอบการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ก่อนจะปรับขึ้นอีกเพียง 0.25% ในแต่ละรอบการประชุมที่เหลือของปีนี้ อีกทั้งยังเร่งมาตรการลดงบดุล หรือ QT (Quantitative Tightening) ในปีนี้ เพื่อดูดสภาพคล่องในระบบและเร่งอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ขยับขึ้น

 

สาเหตุที่ Fed ต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแรงต่อเนื่องในช่วงนี้ มาจากอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นมาก แม้นักเศรษฐศาสตร์จะประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ น่าจะใกล้ถึงจุดสูงสุด และจะเห็นการปรับลดลงเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน (Month on Month) แต่การลดลงของอัตราเงินเฟ้อน่าจะน้อยและลดลงช้า จน Fed อาจยังคงต้องใช้ยาแรงหรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อลดความร้อนแรงของความต้องการสินค้า
 

เงินเฟ้อสหรัฐเร่งตัว

 

ที่น่าสนใจคือ เงินเฟ้อในสหรัฐฯ มีทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน ในส่วนของอุปทาน คือ ของผลิตไม่ทันตามความต้องการ เนื่องจากแรงงานยังไม่กลับเข้าทำงานหลังมีความกังวลต่อการติดเชื้อโควิด-19 บริษัทต่าง ๆ จึงเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานและต้องเพิ่มค่าจ้างอย่างรวดเร็วเพื่อดึงดูดคนให้มาทำงาน อีกทั้งสหรัฐฯ ยังเผชิญกับราคาน้ำมันแพง และราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นสูงจากปัญหาสงครามในยูเครน ประกอบกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันในจีนเนื่องจากควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มข้น 

 

รวมทั้งปัญหาการผลิตรถยนต์ใหม่ที่ล่าช้าจนทำให้คนหันไปซื้อรถยนต์มือสอง ส่งผลให้ราคารถยนต์มือสองพุ่งสูง ขณะที่อุปสงค์ในสหรัฐฯ ก็ร้อนแรงหลังค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นทำให้คนจับจ่ายใช้จ่ายมากขึ้น เห็นได้จาก Core Inflation ที่เพิ่มขึ้นสูง ส่วนผู้ผลิตที่ต้องเพิ่มค่าจ้างก็ผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปในราคาสินค้า จนทำให้เงินเฟ้อพุ่งต่อเนื่อง Fed จึงต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อฝั่งอุปสงค์ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ความต้องการขอสินเชื่อลดลงเนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมเงินสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภคและนักลงทุนชะลอการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ

 

แม้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสามารถลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจได้ แต่ผลของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจนั้น จะต้องใช้เวลาราว 2-3 ไตรมาสกว่าจะเห็นผล ดังนั้น หาก Fed ใจร้อน ต้องการรีบลดอัตราเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง อาจส่งผลให้การลงทุนและการบริโภคลดลงแรง จนต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงานที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงต่อเนื่องจนอาจเข้าสู่ภาวะ Recession ได้

แต่หากเป็นภาวะถดถอยชั่วคราวเพื่อสกัดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ก็จะปรับเข้าสู่สมดุลและน่าจะเข้าสู่ระดับ 2% ได้ โดยที่ Fed น่าจะสามารถกลับมาลดอัตราดอกเบี้ยหรือเพิ่มสภาพคล่องได้ภายหลังหากอัตราเงินเฟ้อลดลงใกล้เป้าหมายหรือมีระดับการจ้างงานที่น้อยเกินไป

 

ทั้งนี้ ความยืดหยุ่นของ Fed ในการกำกับนโยบายการเงินน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ภาวะ Soft Landing ในสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลว่าจะเป็นภาวะวิกฤติผ่านปัญหาสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่กำลังเกิดขึ้นนี้ อาจมีผลให้ราคาบ้านในสหรัฐฯ ลดลงจนกระทบการลงทุน การจ้างงาน และการผิดนัดชำระหนี้ของสถาบันการเงิน และหากเป็นเพียง Soft Landing ได้ การฟื้นตัวในลักษณะ V-shape ก็น่าจะเกิดขึ้นได้จากมาตรการการคลังและการเงินที่ผ่อนคลาย แต่ทั่วโลกคงได้รับผลกระทบผ่าน 3 ปัจจัย คือ การส่งออกที่ชะลอตัวลง การท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เติบโตช้า และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลง

 

ลงทุนใน 4 Theme หลัก

 

เมื่อเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงชะลอตัวลงชั่วคราว หลัง Fed เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ด้วยแนวโน้มเงินเฟ้อที่กำลังปรับลดลง และเศรษฐกิจโลกไม่ได้เข้าสู่ภาวะวิกฤติ เพียงแค่ชะลอลงชั่วคราว ขณะที่มาตรการทางการเงินและการคลังยังสามารถประคองการฟื้นตัวได้ ในภาวะ Soft Landing นี้ มีโอกาสการลงทุนใน 4 ธีมหลักที่น่าสนใจ ได้แก่


1. หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี

 

หุ้นคุณภาพที่มีพื้นฐานดีที่สามารถเติบโตได้ในช่วงผันผวน บริษัทไม่มีหนี้มากจนเกินไปที่จะได้รับผลลบจากดอกเบี้ยขาขึ้น และสามารถทำกำไรได้ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงบริษัทสามารถขยับราคาสินค้าขึ้นได้ตามวัตถุดิบและต้นทุนอื่นที่สูงขึ้น โดยควรกระจายการลงทุนทั่วโลก ทั้งหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียที่เศรษฐกิจยังเติบโตได้

 

2. กองทุนรวมหุ้นและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์รับการเปิดเมือง

 

หุ้นในกลุ่มเปิดเมืองในไทยและสิงคโปร์น่าจะได้รับโอกาสการลงทุนในช่วงที่มีความผันผวนในตลาดโลก โดยเฉพาะกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และรีทที่น่าจะได้รับรายได้ที่สูงขึ้นจากการท่องเที่ยวต่างชาติและนักธุรกิจที่ขยายการลงทุนในห้างสรรพสินค้า สำนักงาน นิคมอุตสาหกรรม โกดัง และศูนย์กระจายสินค้า

 

3. กองทุนรวมหุ้นจีนรับการคลายล็อกดาวน์

 

หุ้นจีนปรับตัวลดลงมามากและมีมูลค่าที่น่าดึงดูดให้เข้าลงทุน จาก P/E ที่อยู่ในระดับต่ำ และการปรับตัวในอนาคตหลังผ่านพ้นปัญหามาตรการจำกัดหุ้นเทคโนโลยีในจีน สงครามในยูเครน และมาตรการเข้มงวดในการจำกัดเชื้อโควิด-19 ในจีน โดยเมื่อปัญหาต่าง ๆ คลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น รัฐบาลและธนาคารกลางจีนน่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ลดภาษีให้กลุ่มธุรกิจ SME และอัดฉีดทางการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภค อีกทั้งมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ จะทบทวนสงครามการค้ากับจีนด้วยการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนลง 25% เพื่อให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ ลดลง อีกทั้งกลุ่มเทคโนโลยีในจีนที่เคยถูกมาตรการจำกัดต่าง ๆ น่าจะคลี่คลาย ซึ่งหุ้นเทคโนโลยีในจีนมีความน่าสนใจมาก ทั้งโอกาสการเติบโตที่สูง ทั้งราคาที่ถูกกว่าหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และน่าจะไม่ได้รับแรงกดดันในการถอดถอนหุ้นจากกระดานตลาดสหรัฐฯ มากเช่นในอดีต

 

4. ตราสารหนี้ระยะสั้นรับมือความผันผวนหาก Fed เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงและลากยาว

 

นักลงทุนอาจชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและเก็บเงินสดหรือลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อรอจังหวะการลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะหากมีความไม่แน่นอนจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญภาวะถดถอยรุนแรง หรือ Hard Landing ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่ราคาย่อลงได้ในภายหลัง
 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
 

ที่มา :  setinvestnow.com