ขุมทรัพย์นํ้าบานปลาย เลื่อนลงนามไม่มีกำหนด

04 พ.ค. 2565 | 05:20 น.

ขุมทรัพย์ท่อส่งน้ำภาคตะวันออก 2.5 หมื่นล้านบาท บานปลาย รัฐบาลกลัวฝ่ายค้านถล่มจนแพแตก สั่งชะลอการลงนาม “ธนารักษ์” แจงไม่มีใบสั่งจากรัฐบาล ขอเวลาทำความเข้าใจกับสังคมที่ยังคลาดเคลื่อน การันตีทุกอย่างทำตามขั้นตอน

ในที่สุดกรมธนารักษ์มีคำสั่งให้เลื่อนการลงนามในสัญญาบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (ท่อส่งน้ำอีอีซี) กับ บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด ผู้ชนะการประมูลที่จ่ายผลตอบแทนให้กับรัฐสูงถึง 2.5 หมื่นล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ท่ามกลางกระแสข่าวว่า มีคำสั่งจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล ให้เลื่อนการเซ็นสัญญาสัมปทานออกไปก่อน 

 

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ปมใหญ่ที่ทำให้ต้องเลื่อนการเซ็นสัญญาสัมปทานบริหารจัการท่อส่งน้ำอีอีซีกับบริษัท วงษ์สยาม ออกไป เพราะผู้ใหญ่ในรัฐบาลวิตกว่า ทางฝ่ายค้าน นำโดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสาร คามและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า หากกรมธนารักษ์ลงนามสัญญากับบริษัท วงษ์สยาม ในวันที่ 3 พฤษภาคม จะไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ทันที 

เพื่อเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการที่ราชพัสดุที่มีมติอนุมัติเห็นชอบเรื่องนี้รวม 6 คน นายยุทธนา หยิมการุณ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ ที่เร่งรีบ รวบรัด เปิดซองประมูลเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564

 

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์เปิดเผยว่า ยืนยันว่า การเลื่อนลงนามในสัญญาบริหารท่องส่งน้ำอีอีซีกับบริษัท วงษ์สยามฯ ไม่มีการสั่งการจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล หรือ รอคำสั่งศาลที่ยังมีประเด็นฟ้องร้องของ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ “อีสท์วอเตอร์” และไม่เกี่ยวข้องกับการอปภิปรายในสภา เพราะยังไม่ทราบว่า จะอภิปรายในประเด็นนี้หรือไม่

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์

“ขณะนี้ยังมีกระแสความไม่เข้าใจและเข้าใจคลาดเคลื่อน ในการดำเนินโครงการบริหารท่อส่งน้ำอีอีซี จึงได้ตัดสินใจเลื่อนการลงนามออกไป และเร่งสร้างความเข้าใจแก่สังคมให้มากและเร็วที่สุด ก่อนจะกำหนดวันเซ็นสัญญาอีกครั้ง”นายประภาศกล่าว

 

ทั้งนี้ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ที่มีความไม่เข้าใจหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนของสังคม ผู้บริหาร กรมธนารักษ์ จึงได้หารือกันเป็นการเร่งด่วน และตัดสินใจว่า ควรเลื่อนออกไปก่อน เพราะอำนาจตัดสินใจอยู่ที่อธิบดีกรมธนารักษ์ และกฎหมายไม่ได้ระบุว่า นายกฯจะต้องเห็นชอบก่อนเซ็นสัญญา แต่ที่ผ่านมา ต้องมีการรายงานความคืบหน้าโครงการตามปกติ

 

อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าวยืนยันว่า การลงนามสัญญาบริหารท่อส่งน้ำอีอีซี ไม่ได้รีบร้อน และเป็นการทำตามหน้าที่และขั้นตอน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด)ที่ราชพัสดุฯ แม้มีคณะกรรมการบางคนแสดงความเห็นต่าง ก็ถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้โดยปกติ

 

กรมธนารักษ์ ในฐานะฝ่ายเลขาฯ มีหน้าที่ในการชี้แจงและให้ข้อมูลข้อเท็จจริง และเคารพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการตรวจสอบหากมีหลักฐานที่เป็นข้อสงสัย ซึ่งกรมฯ เคารพในการตรวจสอบ แต่ท้ายที่สุด ก็ต้องเคารพในเสียงส่วนใหญ่

ขุมทรัพย์นํ้าบานปลาย เลื่อนลงนามไม่มีกำหนด

 

สำหรับข้อสังเกตว่า การแก้ TOR คัดเลือกประมูลผู้บริหารท่อส่งน้ำอีอีซี เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประมูลบางรายหรือไม่นั้น นายประภาศ ชี้แจงว่า  การแก้ TOR นั้น ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลรายใดเสียสิทธิ  แต่เป็นการทำให้เกิดความชัดเจนในประเด็นข้อเสนอทางเทคนิค

 

และยังทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อรัฐสูงกว่าการประมูลในครั้งแรกที่ทาง อิสท์ วอเตอร์ เสนอผลตอบแทน 3,770-6,689  ล้านบาท ขณะที่บริษัท วงษ์สยาม เสนอผลตอบแทน 6,122-6,331 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อไม่มีผู้เสียสิทธิ จึงไม่ใช่การแก้ไข TOR เพื่อเอื้อต่อใครผู้ใดผู้หนึ่งแน่นอน

 

นายประภาศยืนยันว่า ในขั้นตอนของการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาบริหารโครงการนั้น เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุที่กำหนดให้โครงการที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ไม่ต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2562 และได้มีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมคัดเลือกซึ่ง “วงษ์สยามฯ” ก็มีแผนชัดเจนในการบริหารจัดการ

 

ส่วนประเด็นที่ระบุว่า “วงษ์สยามฯ” จะมีความสามารถในการจ่ายเงินรัฐในอนาคตหรือไม่นั้น อธิบดีกรมธนารักษ์ระบุว่า ไม่มีเงื่อนไขใด ที่กำหนดให้เอกชนผู้ชนะการประมูล ห้ามขยายการลงทุน หรือ หาพันธมิตรเพิ่ม ดังนั้น เรื่องประเด็นการบริหารเป็นเรื่องของบริษัทเอง ซึ่งมีสิทธิที่จะเพิ่มทุน หรือขยายการลงทุนในอนาคตได้

 

อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าวยืนยันว่า กรมฯ มีการดำเนินการคัดเลือกเอกชนภายใต้ 3 เงื่อนไขคือ ถูกต้องตามกฎหมาย คุ้มครองผลประโยชน์รัฐ และคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาก็ดำเนินภายใต้กฎหมายพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ปี 62 และกฎกระทรวงฯ

 

ขณะที่ในแง่ของผลประโยชน์ต่อรัฐนั้น หากวันนี้ (3 พ.ค.65) มีการลงนามสัญญากับ “วงษ์สยามฯ” รัฐจะได้รับเงินก้อนแรกทันที 743 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา 580 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนรายปีล่วงหน้าปีที่ 1 วงเงิน 44,644,356 บาท และหลักประกันสัญญา 118,623,856 บาท

 

ขณะที่ผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคคือ ในสัญญากำหนดชัดเจน ที่ผู้ชนะจะต้องคิดค่าน้ำต่อผู้บริโภคไม่เกิน 10.98 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ตลอดอายุสัญญา 30 ปี จากเดิมที่มีการคิดค่าน้ำสูงกว่านี้

 

ด้านนายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากทีมงานเวลา 9.30 น.ว่า ทางกรมธนารักษ์ ขอเลื่อนการเซ็นสัญญาในเวลา 11.00 น. ออกไปก่อน โดยไม่ได้ชี้แจงถึงเหตุผลและไม่ได้รับจดหมายหรือหนังสือที่เป็นลายลักษณ์อักษรใดๆ

นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด

ดังนั้น จึงยังต้องรอการพูดคุยกับอธิบดีก่อน ซึ่งเบื้องต้น ยังไม่ได้คิดถึงประเด็นการฟ้องร้องใดๆ กับกรมธนารักษ์ เพราะเชื่อว่า มีเหตุผลที่จำเป็นทำให้ต้องเลื่อนงานออกไป แต่ยืนยันว่า ผลชนะการประมูลเป็นไปตามขั้นตอน และไม่ใช่การล็อกสเปคอย่างแน่นอน เพราะบริษัทผ่านคุณสมบัติทุกข้อ และเสนอราคาสูงกว่าบริษัทอื่นทั้ง 2 รอบ

 

ส่วนประเด็นที่บริษัท เสนอผลตอบแทนรัฐสูงนั้น เนื่องจากมองว่า การบริหารน้ำในโครงการนี้ จะเป็นจุดที่สร้างชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท ดังนั้นหากจะทำให้รายได้ลดลงบ้าง ก็มองว่าคุ้มค่ากับความน่าเชื่อถือที่จะได้กลับมา

 

ด้านประสบการณ์ นายอนุฤทธิ์กล่าวว่า บริษัทมีประสบการณ์ในการดำเนินโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ทั้งการออกแบบท่อส่งน้ำ การบริหารจัดการ รวมถึงการดำเนินการก่อสร้าง ทำให้ไม่จำเป็นต้องจ้างบริษัทภายนอกมาดำเนินการแทน

 

เช่น โครงการวางท่อส่งน้ำหนงปลาไหล-มาบตาพุด เส้นที่ 3 งานจ้างเหมาก่อสร้างโครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขาสุราษฎร์ธานี  งานจ้างบริหารจัดการและปฏิบัติการโครงการสูบผันน้ำท่อส่งน้ำเชื่อมโยงคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บน้ำบางพระ รวมถึง โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เป็นต้น

 

ย้อนกลับไปปี 2535 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จัดตั้ง บริษัท อีสท์วอเตอร์ ขึ้นเพื่อเป็นองค์กรหลักในการรับผิดชอบการพัฒนาและดำเนินการดูแลท่อส่งน้ำดิบสายหลักในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก โดยอีสท์วอเตอร์ เช่าท่อส่งน้ำดิบและรับมอบทรัพย์สิน 3 โครงการคือ ท่อส่งน้ำดอกกราย ท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) โดยตลอดเวลา 30 ปี อิสต์วอเตอร์จ่ายผลตอบแทนเพียง 600.89 ล้านบาท

 

แต่เมื่อเปิดประมูล ปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุดเป็นเงิน 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี อีสท์วอเตอร์ เสนอผลประโยชน์ตอบแทน 24,212.88 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,780 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565