TIDLOR จ่อออกหุ้นกู้ 8 พันล้าน ขยายธุรกิจ

09 เม.ย. 2565 | 10:15 น.

TIDLOR เผย ทิศทางกำลังซื้อปีนี้ดี ตั้งเป้าโต 20% จ่อออกหุ้นกู้ตามแผน 8,000 ล้านบาทเดือนเม.ย. หนุนขยายธุรกิจ “จำนำทะเบียน-ประกัน” ย้ำสัญญาณผ่อนชำระยังดี ขอดูอีก 2-3 เดือนหลังราคาน้ำมันปรับขึ้น

ตัวเลขสินเชื่อส่วนบุุคคลภายใต้กำกับ ล่าสุดเดือนมกราคม 2565 จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มียอดคงค้างรวม 7.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.44 แสนล้านบาทหรือ 25.43% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นสินเชื่อที่่มีีทะเบียนรถเป็นประกัน 1.82 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.11 หมื่นล้านบาทหรือ 20.53%

 

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด(มหาชน) หรือ TIDLOR ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ ”ว่า ปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่ตลาดจำนำทะเบียนรถเติบโต โดยคาดว่า จะขยายตัว 15% จากปีก่อน 20% ซึ่งขึ้นกับเหตุการณ์ในแต่ละช่วง อย่างปีที่แล้ว ถ้าไม่มีล็อกดาวน์ช่วงไตรมาส 2-3  ตลาดน่าจะเติบโตได้มากกว่า 20%

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด(มหาชน)

ปัจจัยสนับสนุนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถโตปีนี้ น่าจะมาจากการออกผลิตภัณฑ์มากขึ้นของผู้ประกอบการจึงเป็นตัวเลือกที่หลากหลายให้ลูกค้า ซึ่ง TIDLOR จะเน้นให้วงเงินสูงขึ้น ลดดอกเบี้ยถูกลง ผลิตภัณฑ์และช่องทางทั้งลงทุนเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองลูกค้า ให้สามารถเข้าถึงได้จริง 24 ชั่วโมงและเพิ่มสาขาใหม่ นอกจากนี้แนวโน้มที่จะมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาอย่างออโต้เอ็กซ์ น่าจะมีกิจกรรมใหม่ให้กับตลาดด้วย

 

“เราเองมีผลิตภัณฑ์ วงเงินติดล้อคิดดอกเบี้ย เริ่มต้นที่ 0.79% ต่อเดือนพร้อมมีบัตรกดเงินสดให้กับลูกค้าด้วย ซึ่งปีนี้ TIDLOR ตั้งเป้าเติบโตด้านสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 20% แต่ใจอยากไปถึง 25% สิ้นปีน่าจะอยู่ที่กว่า 7 หมื่นล้านบาท จากปีที่แล้วที่เราเติบโต 20% เท่ากับตลาด แต่ด้านการขายประกันเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% ขณะตลาดเติบโตไม่ถึง 10% ราว 5-6%” นายปิยะศักดิ์ กล่าว

ส่วนแผนการระดมทุนนั้น ปีนี้ตามแผน เงินติดล้อ จะออกหุ้นกู้ ในเดือนเมษายน ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) อนุมัติไว้ก่อนหน้าแล้ววงเงิน 8,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาขยายธุรกิจให้เติบโตตามแผน

 

ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อแบ่งเป็น มอเตอร์ไซค์ 13% เก๋ง กระบะ 62% รถบรรทุก และอื่น 25% โดยสัญญาณความต้องการสินเชื่อ แนวโน้มน่าจะไปได้ดี ทั้งปีมีโอกาสทำได้ตามแผน แม้ในแง่กำลังซื้อมีหลายปัจจัยที่ต้องรอดูในระยะต่อไป เช่น เงินเฟ้อที่สูง ทิศทางดอกเบี้ย และปัจจัยสายการผลิตติดขัด

 

อย่างที่ผ่านมา มอเตอร์ไซด์ป้ายแดง ยอดขายดี แต่สายการผลิต ผลิตส่งมอบไม่ทัน ดันราคารถมือสองปรับขึ้น แต่หนี้เสียลดลง เพราะลูกค้าที่คืนรถกลับมาสามารถขายได้กำไรมากขึ้น ส่วนราคาน้ำมันที่เพิ่มนั้น แม้บริษัทจะมีลูกค้ารถบรรทุก แต่ผลกระทบกำลังซื้อยังไม่มาก เพราะราคาน้ำมันดีเซลไม่ปรับขึ้น แต่ขอดูสถานการณ์ตลาดอีกระยะหนึ่ง

 

นายปิยะศักดิ์ กล่าวย้ำว่า TIDLOR มีความแตกต่างจากค่ายอื่น คือ บริษัทไม่ได้เติบโตจากสินเชื่ออย่างเดียว แต่เติบโตจากการขายประกันด้วย โดยปีที่แล้ว ด้านประกันเงินผ่อน ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ยอดขายประกันต่อสาขาสูงเป็นแสนบาท และทำรายได้จากการขายประกันทะลุพันล้าน ด้วยกลยุทธ์ผ่อนจ่าย 0% 12 เดือนค่างวดเท่ากัน ไม่มีเงื่อนไขทำให้ผ่อนประกันต่องวดอัตราเท่ากัน

 

ทั้งนี้รายได้จากการขายประกันคาดว่า จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 10% โดยฐานลูกค้าประกันส่วนใหญ่เป็นลูกค้าตั้งใจขับรถมาสาขา เพื่อซื้อประกันวินาศภัยอย่างเดียว 90% จึงไม่ใช่มาจากฐานลูกค้ากู้เงินหรือจำนำทะเบียน

ฐานะการเงิน บมจ.เงินติดล้อ

ด้านดิจิทัลนั้น บริษัทยังคงทำอย่างต่อเนื่อง โดยมีทีมเทคโนโลยีกว่า 300 คน ซึ่งอนาคตจะใช้ช่องทางนี้มากขึ้น จากตอนนี้ลูกค้าดาวโหลด “แอปเงินติดล้อ” แล้วกว่า 700,000 รายจากฐานลูกค้ากว่า 1 ล้านราย (รวมประกัน) และลูกค้าชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลประมาณ 3 ล้านธุรกรรมปีก่อน

 

ขณะเดียวกัน เงินติดล้อยังเป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถรายเดียวที่มีบัตรกดเงินสด ซึ่งลูกค้าสินเชื่อได้รับบัตรไปแล้วมากกว่า 3 แสนใบจากเริ่มต้นถึงเดือนกุมภาพันธ์ 65 ล่าสุดขยายบัตรกดเงินสดให้กับรถกระบะ รถเก๋ง จากเริ่มต้นให้เฉพาะลูกค้ามอเตอร์ไซด์

 

โดยเฉพาะไตรมาส 4 ปีก่อน พบว่า ลูกค้ากดเอทีเอ็ม 4 แสนครั้ง เฉพาะช่วงหลัง 5 โมงเย็นถึง 7 โมงเช้าสะท้อนความสะดวกต่อลูกค้าอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับสาขา จึงเป็นที่มาว่า เงินติดล้อไม่จำเป็นต้องเปิดสาขาจำนวนมาก แต่เน้นลงทุนเทคโนโลยีและทำให้ลูกค้าเข้าถึงจริง 24 ชั่วโมง

 

ที่สำคัญ กรณีลูกค้าจ่ายค่างวดครบกำหนดหรือปิดบัญชีกับบริษัทแล้ว ยังสามารถถือบัตรกดเงินได้ต่อเนื่อง ซึ่งหลังปิดบัญชีลูกค้ามอเตอร์ไซด์จะกลับมาใหม่ภายใน 2-3 เดือน ส่วนกลุ่มเก๋ง, กระบะ กลับมา 20% จากอดีตหลังปิดบัญชี เคยหายไป 2-3 ปี เพราะบัตรกดเงินสดช่วยให้หมุนรอบได้หากลูกค้าจำเป็นต้องใช้เงิน

 

ส่วนการช่วยเหลือลูกค้าให้อยู่ได้ในช่วงโควิด-19 แต่ทยอยออกจากความช่วยเหลือเป็นระยะ จากปีแรกที่มีประมาณ 2 หมื่นราย แต่สิ้นปีก่อนเหลือไม่ถึง 5,000 ราย และหลักจากได้เงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนครั้งแรก (ไอพีโอ) ได้คืนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) กับธนาคาร ออมสิน หมดแล้ว ปัจจุบันต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8%

 

“จุดแข็งของเงินติดล้อ คือ ความคงเส้นคงวา เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พอออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ลูกค้าตอบรับและมีการบอกต่อ รวมทั้งลูกค้าประกัน ส่วนความสามารถในการผ่อนชำระยังดีไม่มีเห็นความผิดปกติ แต่ต้องดูอีก 2-3 เดือนหลังราคาน้ำมันปรับขึ้น แต่โดยรวมทั้งปี จะรักษาเอ็นพีแอลต่ำกว่า 2% จากตอนนี้อยู่ที่ 1.19%” นายปิยะศักดิิ์กล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 13  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,771 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2565