ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.54 บาท/ดอลลาร์

30 มี.ค. 2565 | 00:51 น.

ค่าเงินบาทยังคงผันผวนในกรอบกว้าง แม้จะได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ระหว่างวันตลาดรอลุ้นและหากผลการประชุม กนง. มีมุมมองที่แย่ลงต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.54 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.64 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงผันผวนในกรอบกว้าง แม้ว่าจะได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ท่ามกลางความหวังการเจรจาสันติภาพ แต่ทว่า ระหว่างวัน โดยเฉพาะในช่วงตลาดรอลุ้นและรับรู้ผลการประชุม กนง. เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ หาก กนง. มีมุมมองที่แย่ลงต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะหากมีการปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

 อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทยังติดแนวต้านสำคัญในโซน 33.75 บาทต่อดอลลาร์อยู่ เนื่องจาก นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันแรงขายบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติก็มีไม่มากนัก

 

ทั้งนี้ เรามองว่า แนวรับของเงินบาทจอยู่ในช่วง 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาผู้นำเข้าต่างรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ รวมถึงบริษัทต่างชาติญี่ปุ่นอาจเข้ามาทำการแลกเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในช่วงปิดปีงบประมาณของญี่ปุ่น

 

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.70 บาท/ดอลลาร์

 

ผู้เล่นในตลาดการเงินต่างเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่ล่าสุด การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนมีความคืบหน้ามากขึ้นมากที่สุด นับตั้งแต่มีการเจรจาสันติภาพเกิดขึ้น โดยฝั่งรัสเซียก็พร้อมจะลดระดับปฎิบัติการทางทหารในพื้นที่รอบเมืองหลวงยูเครนลงอย่างมาก และพร้อมยอมรับเงื่อนไขเป็นกลางของยูเครน ขณะเดียวกันทางฝั่งยูเครนได้มีการเปิดเผยรายละเอียดเงื่อนไขการเป็นกลางที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวอาจนำไปสู่การเจรจาระหว่างผู้นำของสองประเทศและอาจยุติสงครามได้ในที่สุด

 

ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้ ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +1.84% โดยผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ที่ผลประกอบการมีแนวโน้มที่แข็งแกร่ง หลังจากที่ราคาหุ้นเทคฯ ได้ปรับตัวลงแรงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ระดับราคาหุ้นเทคฯ ดูมีความน่าสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ยังช่วยหนุนให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +1.23%

 

อย่างไรก็ดี ดัชนี S&P500 เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงานบ้าง ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความกังวลปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะเดียวกันปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีนก็ยังกดดันภาพความต้องการใช้พลังงานในระยะสั้น

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พุ่งขึ้นกว่า +2.96% หนุนโดยความหวังการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาซื้อหุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มการเงิน ING +8.1%, BNP Paribas +6.4% รวมถึงกลุ่มยานยนต์ BMW +5.6%. Volkswagen +5.1%

 

ทั้งนี้ เรามองว่า สถานการณ์สงคราม รวมถึงการเจรจาสันติภาพยังมีความไม่แน่นอนอยู่ นักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนในยุโรป อย่างไรก็ดี ธีมการลงทุนระยะยาวที่มีลักษณะเป็น Mega Trend อาทิ การลงทุนในพลังงานทางเลือก (Renewable Energy) และธุรกิจ EV ก็ยังเป็นธีมการลงทุนที่น่าสนใจในฝั่งยุโรปที่นักลงทุนอาจใช้จังหวะที่หุ้นยุโรปในกลุ่มดังกล่าวปรับฐานลงมา ในการทยอยสะสมการลงทุนในธีมดังกล่าวได้

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าภาวะตลาดเปิดรับความเสี่ยงจะหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นทะลุระดับ 2.50% ได้ ในช่วงแรก แต่สุดท้าย ความกังวลโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากสัญญาณ Inverted Yields Curve (บอนด์ยีลด์ระยะสั้น สูงกว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาว) ได้หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนเลือกที่จะเพิ่มการถือครองบอนด์ระยะยาวมากขึ้น ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 2.40%

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า แม้ในระยะสั้นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะยังคงผันผวนและแกว่งตัวในกรอบ sideways แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด โดยเฉพาะในช่วงการประชุมเฟดเดือนพฤษภาคม ที่เราประเมินว่า อาจจะสามารถเห็นจุดสูงสุดของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ในปีนี้ได้

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามบรรยากาศในตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ที่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นและการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 98.38 จุด

 

ทั้งนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลง หลุดต่ำกว่าระดับแนวรับสำคัญแถว 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะสามารถรีบาวด์ขึ้น สู่ระดับ 1,917 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ตามแรงซื้อ buy on dip เพื่อหวังการรีบาวด์กลับสู่แนวต้านในระยะสั้น เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนในตลาดยังคงกังวลกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงคราม รวมถึง โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากสัญญาณ Inverted Yields Curve นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ

 

 

สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเราประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางทิศทางเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ ประเด็นที่ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจ คือ การปรับประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจว่าจะมีการปรับประมาณการแย่ลงขนาดไหน ซึ่งเราคาดว่า อาจมีการปรับลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้สู่ระดับ 3.0% สอดคล้องกับมุมมองของบรรดานักวิเคราะห์ พร้อมกับปรับเพิ่มค่าเฉลี่ยในเฟ้อในปีนี้สู่ระดับ 3.5%-4.0% ตามแนวโน้มเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และระดับฐานราคาสินค้าที่ต่ำในปีก่อนหน้า

 

ที่สำคัญ ตลาดจะรอลุ้นว่าจะมีการปรับประมาณการ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึง ดุลบัญชีเดินสะพัดแย่ลงขนาดไหน เพราะการปรับคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ก็อาจเป็นปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้

 

นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามและการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ล่าสุดการเจรจาระหว่างสองฝ่ายมีความคืบหน้ามากขึ้น ทำให้ตลาดต่างคาดหวังว่าการเจรจาสันติภาพจะช่วยยุติสงครามได้ในที่สุด

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.40 น.) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ   โดยเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินและตลาดหุ้นในเอเชียอื่นๆ ท่ามกลางความหวังต่อการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน อย่างไรก็ดีกรอบการแข็งค่าของเงินบาทน่าจะยังจำกัด เนื่องจากตลาดยังคงรอความชัดเจนของผลการเจรจาระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ประกอบกับยังมีปัจจัยในประเทศที่ต้องรอติดตาม คือ สัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินจาก กนง. มุมมองต่อเศรษฐกิจ/เงินเฟ้อ และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ทบทวนใหม่ 
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.45-33.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่  ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2564