ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 32.57 บาท/ดอลลาร์

04 มี.ค. 2565 | 00:22 น.

เงินบาท ปัจจัยหนุนการแข็งค่ายังคงเป็นแรงซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ จากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย - แนวต้านสำคัญอยู่ใกล้โซน 32.80-32.90 บาท/ดอลลาร์ ส่วนแนวรับจะอยู่ในช่วง 32.20-32.40 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.57 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.62 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนในกรอบที่กว้าง เพราะตลาดการเงินยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะสงคราม ซึ่งจะหนุนให้เงินดอลลาร์ยังแข็งค่าขึ้นต่อได้

 

อย่างไรก็ดี แม้ตลาดจะปิดรับความเสี่ยง แต่ภาวะดังกล่าวกลับช่วยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจมีโฟลว์ขายทำกำไรทองคำเข้ามาช่วยลดการอ่อนค่าของเงินบาทไปได้บ้าง ขณะที่ปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็นแรงซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ จากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย โดยเราคงมอง แนวต้านสำคัญของเงินบาทอยู่ใกล้โซน 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับสำคัญ จะอยู่ในช่วง 32.20-32.40 บาทต่อดอลลาร์

 

อย่างไรก็ดี สภาวะสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงอาจกดดันให้ตลาดพลิกกลับไปปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนักได้ทุกเมื่อ ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวจะทำให้เงินบาทอาจผันผวนในกรอบที่กว้างกว่าช่วงปกติได้ ทำให้การปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนควรจะต้องมีการใช้เครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ การใช้ Option  

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.45-32.65 บาท/ดอลลาร์

 

ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น จนกดดันให้นานาประเทศยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียได้

 

ทั้งนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากรายงานข้อมูลเศษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนกุมภาพันธ์ที่ลดลงสู่ระดับ 56.5 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 61 จุด

 

ซึ่งบรรยากาศในตลาดที่ไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและข้อมูลเศรษฐกิจที่แย่กว่าคาด ได้กดดันให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงราว -0.53% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด -1.56%

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวลดลงถึง -2.06% จากความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังเดินหน้าเทขายหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มการท่องเที่ยวและการเดินทาง กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มการเงิน

 

ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มพลังงานก็เผชิญแรงเทขายทำกำไร หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากแนวโน้มการเจรจานิวเคลียร์ดีลกับอิหร่านมีความคืบหน้ามากขึ้นและอาจเปิดทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง

 

แม้ว่าตลาดการเงินอาจเผชิญแรงกดดันจากภาวะสงครามในระยะสั้น แต่บรรดานักวิเคราะห์ อาทิ Citigroup, Goldman Sachs และ JP Morgan ต่างมองว่า การปรับฐานของตลาดหุ้นจากภาวะสงครามจะเป็นเพียงแค่ความผันผวนในระยะสั้น สุดท้ายตลาดก็จะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้ในระยะถัดไป ทำให้จังหวะการปรับฐานของตลาดหุ้นจะเปิดโอกาสในการเข้าซื้อสะสม (Buy on Dip)

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย 3bps สู่ระดับ 1.84% จากความกังวลปัญหาสงครามที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากตลาดจะปิดรับความเสี่ยงในระยะสั้นจากภาวะสงคราม สุดท้าย เมื่อตลาดกล้ากลับมาเปิดรับความเสี่ยง บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็จะสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้

 

นอกจากนี้ ท่าทีของเฟดที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น จะยิ่งหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี จะกลับมาปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่องในระยะถัดไป ดังนั้น นักลงทุนอาจใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ ปรับตัวลดลงในการ Sell on Rally หรือทยอยขายทำกำไรได้บ้าง

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความเสี่ยงจากภาวะสงคราม ขณะเดียวกัน ผลกระทบของสงครามและมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่อาจกระทบเศรษฐกิจยุโรป ก็ได้กดดันให้ สกุลเงินยูโร (EUR) และสกุลเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงต่อเนื่องแตะระดับ 1.107 ดอลลาร์ต่อยูโร และ 1.335 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ซึ่งทั้งสองปัจจัยได้ช่วยหนุนให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 97.79 จุด

 

แม้เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น แต่ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดและบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ย่อตัวลงเล็กน้อย ได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นสู่ระดับ  1,935 ดอลลาร์ต่อออนซ์  สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า ในระยะสั้นผู้เล่นบางส่วนยังคงต้องการถือทองคำเพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตจากสถานการณ์สงคราม

 

ทั้งนี้ เราคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอทยอยขายทำกำไรราคาทองคำได้ หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านก่อนหน้าในช่วง 1,950-1,975 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ขายทำกำไรทองคำอาจพอช่วยให้เงินบาทไม่อ่อนค่าไปมากได้ในระยะสั้นนี้

 

สำหรับวันนี้ นอกเหนือจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า ตลาดแรงงานมีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่ง โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) จะเพิ่มขึ้น 4 แสนตำแหน่ง หนุนให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 3.9% ซึ่งภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังฟื้นตัวได้ดีและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะช่วยหนุนให้เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ 0.25% ในเดือนมีนาคมนี้

 

ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า ระดับราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและฐานของค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่อยู่ในระดับต่ำของปีก่อนหน้าจากมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของภาครัฐ จะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนกุมภาพันธ์ พุ่งสูงกว่าระดับ 3.5% หรืออาจจะแตะระดับ 4.0% ได้ นอกจากนี้ แนวโน้มของราคาสินค้าพลังงานที่อาจอยู่ในระดับสูงได้นาน จะยิ่งหนุนให้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปีนี้อยู่ที่ระดับ 2.2%  

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังอาจจะมี Bias ในด้านอ่อนค่าสอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค

 

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังมีรายงานข่าวระบุว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียในยูเครนเกิดเพลิงไหม้ หลังจากกองกำลังทหารของรัสเซียเข้าโจมตีในพื้นที่ดังกล่าว โดยในช่วงเช้าวันนี้ ดัชนีเงินดอลลาร์ฯ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่ง
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.50-32.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็น/สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทิศทางฟันด์โฟลว์ สถานการณ์โควิดในประเทศ และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ