ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 32.68 บาทต่อดอลลาร์

01 มี.ค. 2565 | 00:24 น.

เงินบาทยังมี แรงกดดันฝั่ง "อ่อนค่า"จากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ ขณะเดียวกันโฟลว์ธุรกรรมทองคำอาจกลับข้างมาเป็นฝั่งซื้อทองคำตอนย่อตัว ซึ่ง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นฝั่งซื้อสุทธิ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.68 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.70 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในกรอบที่กว้าง โดยมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ ขณะเดียวกันโฟลว์ธุรกรรมทองคำก็อาจกลับข้างมาเป็นฝั่งซื้อทองคำตอนย่อตัว ซึ่งอาจร่วมกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้

 

อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นฝั่งซื้อสุทธิ ทำให้เงินบาทอาจไม่อ่อนค่าไปมาก ยกเว้นตลาดจะกลับมาปิดรับความเสี่ยงรุนแรงอีกครั้ง โดยในระยะสั้นนี้ แนวต้านสำคัญของเงินบาทยังคงอยู่ใกล้โซน 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.80 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าปิดรับความเสี่ยงมากนัก หลังจากที่รัสเซียยังคงเดินหน้าบุกโจมตียูเครนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่านานาประเทศจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียก็ตาม ทำให้ผู้เล่นบางส่วนยังคงกังวลว่า รัสเซียอาจเผชิญมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น อาทิ มาตรการคว่ำบาตรนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย รวมถึงการตัดรัสเซียออกจากระบบการโอนเงินระหว่างประเทศโดยสิ้นเชิงเป็นต้น ซึ่งกรณีดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินมากกว่าคาดได้

 

ภาวะปิดรับความเสี่ยงของนักลงทุนได้กดดันให้ในช่วงแรกของตลาด ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวลงก่อนที่ผู้เล่นบางส่วนจะเข้ามาซื้อหุ้นที่ราคาปรับฐานลงหนัก (Buy on Dip) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดมองว่า สหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบจากสงครามไม่มากนัก ทำให้ผู้เล่นบางส่วนยังเห็นโอกาสการกลับเข้าไปลงทุนในหุ้นที่ราคาปรับฐานลงมา ทำให้สุดท้าย ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +0.41% สอดคล้องกับสัญญาณเชิงเทคนิคัลที่เกิดภาพ bullish divergence ขึ้น ส่วนดัชนี S&P500 ย่อตัวลงเหลือเพียง -0.25%

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลดลงกว่า -1.17% จากแรงเทขายหุ้นกลุ่มการเงินที่หนักหน่วง โดยเฉพาะหุ้นสถาบันการเงินอิตาลีและฝรั่งเศส จากความกังวลว่ามาตรการคว่ำบาตรที่จะตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT นั้นอาจส่งผลกระทบต่อหุ้นสถาบันการเงินอิตาลีและฝรั่งเศสอย่างมาก

 

เนื่องจากมีสัดส่วนการทำธุรกรรมกับรัสเซียที่สูง ING -7.9%, BNP Paribas -7.5%, Intesa Sanpaolo -7.4% ทั้งนี้ เรายังคงมองว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุนต่อไปในระยะสั้น และนักลงทุนอาจชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อน เพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปจากมาตรการคว่ำบาตร ณ ปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มเติม โดยเฉพาะการระงับการนำเข้าสินค้าพลังงานจากรัสเซียทุกช่องทาง

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่วางใจกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ยังคงมีความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงแตะระดับ 1.84% อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอติดตามท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการปรับนโยบายการเงิน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงอย่าง สงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

โดยเฉพาะ ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ เพราะหากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดประเมินว่า ผลกระทบจากสงครามต่อภาพรวมเศรษฐกิจอาจไม่ได้มาก แต่สหรัฐฯ ยังคงเผชิญปัญหาเงินฟ้อ ก็อาจทำให้เฟดสามารถใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจหนุนให้บอนด์ยีลด์สามารถปรับตัวขึ้นได้อีกครั้ง

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมือเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเข้าไปถือเงินเยน (JPY) รวมถึงทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากกว่าที่จะถือเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกันผู้เล่นบางส่วนก็เลือกที่จะรอดูท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินหลังเกิดภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้น ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 96.75 จุด ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า เงินดอลลาร์ยังไม่ได้อ่อนค่าไปมาก เพราะผู้เล่นบางส่วนก็คงการถือดอลลาร์เพื่อเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่เช่นกัน

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาความรุนแรงของสงครามรัสเซีย-ยูเครนและท่าทีของฝั่งตะวันตกต่อการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม ซึ่งต้องระวังกรณีที่สงครามอาจยืดยื้อกว่าคาด หลังการป้องกันของยูเครนสามารถทำได้ดีกว่าที่รัสเซียประเมินไว้ ซึ่งอาจเปิดโอกาสการบุกโจมตีที่หนักขึ้นของรัสเซีย ทำให้เกิดความสูญสียต่อชีวิตพลเรือนมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงจากนานาประเทศได้ ทำให้เรามองว่า ความเสี่ยงสงครามจะกดดันให้ตลาดการเงินอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและผันผวนในระยะสั้นได้

 

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ตลาดคาดว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง หลังการระบาดโอมิครอนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการ (ISM Manufacturing PMI) เดือนกุมภาพันธ์ที่จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 58 จุด (ดัชนีเกินระดับ 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ส่วนในฝั่งเอเชีย ภาพรวมเศรษฐกิจจีนจะยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนและการใช้มาตรการ Zero COVID

 

โดยเฉพาะภาคการบริการที่จะขยายตัวในอัตราชะลอลง ชี้จาก ดัชนี PMI ภาคการบริการในเดือนกุมภาพันธ์จะลดลงสู่ระดับ 50.7 จุด เช่นเดียวกันกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่อาจหดตัวลง สะท้อนผ่าน ดัชนี PMI ภาคการผลิตที่จะลดลงสู่ระดับ 49.8 จุด

 

ขณะที่ในฝั่งไทย การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในเดือนกุมภาพันธ์อาจหนุนให้ภาคการผลิตขยายตัวดีขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 52 จุด ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) ก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 47.8 จุด เช่นกัน ซึ่งแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยต่อเนื่อง บนธีม Reopening & Recovery

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 32.60-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังเปิดตลาดในช่วงเช้าวันนี้ (หลังแกว่งตัวค่อนข้างผันผวนเมื่อวานนี้) อย่างไรก็ดีตลาดยังคงรอติดตามสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนอย่างใกล้ชิด ซึ่งยิ่งหากพัฒนาการของประเด็นความขัดแย้งยังดูซับซ้อน ก็จะยิ่งหนุนแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.60-32.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ระหว่างยูเครน-รัสเซีย ทิศทางฟันด์โฟลว์ สถานการณ์โควิดในประเทศ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.พ. ของจีน สหรัฐฯ อังกฤษ และยุโรป