ลุ้น ลงทุน TDI ฝ่ากับดักโควิด-ดอกเบี้ยขาขึ้น

19 ม.ค. 2565 | 07:31 น.

ลุ้นธุรกิจไทยปี 65 ฝ่ากับดักโควิด-19 ดอกเบี้ยขาขึ้น ลุยลงทุนนอก หลังเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ 9 เดือนปี 64 ลดลง 27.30% มูลค่า 1.22 แสนล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลเงินลงทุนสะสมเหลือ 3.26 แสนล้านบาทจาก 4.49 แสนล้านบาทช่วงเดียวกันปีก่อน

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ(TDI) ช่วง 9 เดือนปี 2564 ลดลง 27.30% มูลค่า 122,730 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 449,525 ล้านบาท ลดเหลือมูลค่าสะสม 326,795 ล้านบาท โดยปัจจัยสำคัญมีการถอนการลงทุนกลับออกจากเมียนมาด้วย

 

ทั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นทั้งภูมิภาคเอเชียในช่วงไตรมาส 3 ส่งผลให้หลายกลุ่มธุรกิจมีการลงทุนลดลง เห็นได้จาก 1. ประกันภัยและสถาบันการเงินมูลค่า 101,103 ล้านบาทลดลงจาก 182,395 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน, การผลิตมูลค่า 62,919 ล้านบาทลดลงจาก 132,544 ล้านบาท การขายส่งขายปลีกซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ มูลค่า 22,298 ล้านบาทลดลงจาก 49,135 ล้านบาท การผลิตเครื่องดื่ม มูลค่า 7,752 ล้านบาทจาก 27,821 ล้านบาท 

สำหรับเม็ดเงิน TDI จำนวน 326,795 ล้านบาทนั้น บางส่วนเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากปีก่อนๆ โดยเฉพาะกลุ่มเหมืองแร่ มูลค่า 78,794 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 31,618 ล้านบาท เพราะจากผลการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน กลุ่มขนส่งและคลังสินค้า 21,958 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 3,686 ล้านบาท, กลุ่มไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำและระบบปรับอากาศ 23,840 ล้านบาทเพิ่มจากจาก 4,342 ล้านบาท 

 

นายเกษม พันธ์รัตนมาลา กรรมการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นักธุรกิจคนไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ทำให้แนวโน้มการออกไปลงทุนในต่างประเทศระมัดระวังมากขึ้น ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีข้อจำกัดในการเดินทางข้ามประเทศ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงิน 

นายเกษม พันธ์รัตนมาลา กรรมการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)

อย่างไรก็ตาม ตลาดในภูมิภาคอาเซียนนั้น ยังมีโอกาสให้ธุรกิจทั้งระดับใหญ่ กลางและเล็กต่อยอดธุรกิจได้โดยเฉพาะกลุ่มซีไอเอ็มบี มีฐานลูกค้าอยู่ในแต่ละประเทศ ดังนั้นจึงขึ้นกับลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจด้วย 


นอกจากนั้น ประเภทธุรกิจหลายสาขาคำนึงยังถึงภาวะโลกร้อนมากขึ้น จึงเป็นโอกาสในการออกไปลงทุนในหลากหลายธุรกิจ แต่ต้องยอมรับว่า กระแสภาวะโลกร้อนย่อมจะส่งผลต่อธุรกิจเหมืองแร่และบางธุรกิจ ซึ่งจะต้องปรับตัวให้ความสำคัญในการซื้อเครดิต ควบคุมต้นทุนเครดิตควบคู่ไปด้วยกัน 

 

ในแง่ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จะไม่ทิ้งฐานเดิม โดยจะดึงลูกค้าทั้งกลุ่มของซีไอเอ็มบี ซึ่งทำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนมานานเพื่อต่อยอดธุรกิจของลูกค้า รวมถึงบริการด้านสินเชื่อแต่ละปีก็จะมีจับคู่ธุรกิจเสริมศักยภาพให้กับลูกค้าด้วย ส่วนแนวโน้ม TDI ในรอบปี 2564 คาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 589,621 ล้านบาท แต่ก็ขึ้นกับพาร์ทเนอร์ และปัจจัยแวดล้อมอะไรจะสนับสนุนหรือฉุดรั้งหรือไม่ 

 

 “TDI ปี 2565 แนวโน้มการออกไปลงทุนนักธุรกิจไทยมีความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนลดลงจากปีที่แล้ว โดยโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยต้องติดตาม และทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน” นายเกษม กล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม โอกาสของ TDI ในปีนี้ เป็นโอกาสบริษัทขนาดใหญ่ที่จะเข้าไปซื้อกิจการแต่ขึ้นกับสัดส่วนการถือหุ้น อุตสาหกรรมใหม่ๆ รวมถึงโอกาสซื้อกิจการไฮเทค เมตาเวิร์ส และอีคอมเมิร์ชที่ไม่มีการแข่งขันที่รุนแรง แต่ผู้ประกอบธุรกิจ Start-Up จะต้องคำนึงถึงต้นทุน ภาระในการระดมทุน รวมถึง Venture Capital บางธุรกิจมีโอกาสไปไม่รอด เช่น กลุ่มท่องเที่ยวฯลฯ

ลุ้น ลงทุน TDI  ฝ่ากับดักโควิด-ดอกเบี้ยขาขึ้น

สำหรับสถิติยอดคงค้างมูลค่าการลงทุนโดยตรงของธุรกิจไทยในต่างประเทศ (TDI)ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เทียบช่วงเดียวกันของปี 2563 พบว่า ธุรกิจไทยออกไปลงทุนสะสมลดลงในหลายประเทศ อาทิ

  1. อาเซียน มูลค่า 97,188 ล้านบาทจาก 281,372 ล้านบาท  
  2. อินโดนีเซียมูลค่า 65,335 ล้านบาทจาก 75,417 ล้านบาท
  3. เมียนมา มูลค่า 10,177 ล้านบาท จาก 20,983 ล้านบาท
  4. มาเลเซีย มูลค่า 726 ล้านบาทจาก 20,960 ล้านบาท
  5. สิงคโปร์ มูลค่า 4,533 ล้านบาทจาก 120,072 ล้านบาท
  6. เวียดนามมูลค่า 26,962 ล้านบาทจาก 36,801 ล้านบาท
  7. เนเธอร์แลนด์ มูลค่า 17,121 ล้านบาทจาก 25,356 ล้านบาท

 

ส่วนประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนสะสมเพิ่มขึ้นได้แก่

  1. ฮ่องกง มูลค่า 102,662 ล้านบาทจาก 45,773 ล้านบาท
  2. มอริเชียส มูลค่า 27,092 ล้านบาทจาก 22,439 ล้านบาท
  3. สหราชอาณาจักร มูลค่า 27,600 ล้านบาทจาก 21,119 ล้านบาท
  4. สหภาพยุโรป (28ประเทศ) มูลค่า 63,110 ล้านบาทจาก 17,911 ล้านบาท
  5. สปป.ลาว มูลค่า 11,631 ล้านบาทจาก 2,869 ล้านบาท
  6. ไต้หวัน มูลค่า 4,683 ล้านบาทจาก 261 ล้านบาท
  7. เกาหลีใต้ มูลค่า 1,317 ล้านบาทจาก 744 ล้านบาท 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,750 วันที่ 20 - 22 มกราคม พ.ศ. 2565