ต้าน "เก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย" Change.org ล่าชื่อคัดค้าน

10 ม.ค. 2565 | 14:22 น.

พบมีการล่ารายชื่อ คัดค้านการเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย โดย กลุ่มที่มีชื่อว่า "ผู้ห่วงใยเศรษฐกิจ" ได้สร้างแคมเปญรณรงค์ใน Change.org

เมื่อช่วงค่ำว่าวันที่ 10 มกราคม 2565 ในเว็บไซต์ www.Change.org ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดแคมเปญรณรงค์ในสังคมในประเด็นต่างๆ ได้มีกลุ่มที่ใข้ชื่อว่า "ผู้ห่วงใยเศรษฐกิจ" 

ได้สร้างแคมเปญรณรงค์ใน Change.org ด้วยการล่าชื่อเพื่อแสดงพลังคัดค้านการเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย  ซึ่งตามกติกาของ Change ระบุว่า แต่ละแคมเปญหากมีคนลงชื่อถึง 100ร ายชื่อ แคมเปญจะถูกโชว์ในหน้าแคมเปญยอดนิยม

โดยเนื้อหาของแคมเปญ "คัดค้านการเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย" มีเนื้อหาที่ระบุเหตุผลว่า 

Change.org มีการล่าชื่อ คัดค้านการเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย

ร่วมแสดงพลังคัดค้านการเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย

การประกาศจากอธิบดีสรรพากรว่า กระทรวงการคลัง มีนโยบายให้จัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในอัตรา 0.1% ของมูลค่าการขาย โดยไม่สนใจว่าการขายนั้น ผู้ขายจะขาดทุนหรือกำไรจากการขาย และนโยบายการเก็บภาษีการขายนี้ สุดท้ายไม่เพียงเป็นการทำลายตลาดหุ้นของประเทศเท่านั้น แต่ยังจะทำลายเศรษฐกิจของประเทศระดับมหภาคในระยะยาวและถ้าตัดสินใจใช้ไปแล้ว แม้ว่าจะพบว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด ก็จะเป็นการยากที่จะนำทุกอย่างให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้ เพราะนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศอาจย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่นหมดแล้วนั้น 

จึงขอเรียกร้องให้ทุกท่านร่วมแสดงพลังช่วยกันลงชื่อคัดค้านนโยบายการเก็บภาษีการขายหุ้น และให้รัฐพิจารณาที่จะจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นในรูปแบบอื่น ที่สร้างความเป็นธรรมหรือลดช่องว่างของการกระจายรายได้ได้จริง โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศอย่างภาษีการขายนี้

Change.org มีการล่าชื่อ คัดค้านการเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย

 

ทั้งนี้ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่ทำการซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือตลาดหุ้นเป็นนักลงต่างประเทศประมาณ 40 % ซึ่งรวมกลุ่มที่ซื้อขายหุ้นโดยใช้ AI ซื้อและขายในระยะเวลาสั้นๆถึง 30% ของปริมาณการซื้อขายรวม กลุ่มใหญ่อีกกลุ่มคือนักลงทุนไทยประมาณ 40% ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นนักลงทุนที่มีลักษณะเก็งกำไร ซื้อแล้วขายในระยะสั้นๆ เช่นกัน 

ที่เหลือคือสถาบันในประเทศประมาณ 10% พอร์ตลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์เองอีกประมาณ 10% ถ้าต้นทุนในการขายสูงขึ้นจากการเก็บภาษีการขาย 0.1% ของมูลค่าขาย นักลุงทุนทั้งต่างประเทศและไทยที่มีพฤติกรรมการซื้อขายในระยะสั้นๆ คงหายไปจากตลาดหุ้น จากต้นทุนการซื้อขายที่สูงขึ้น จนไม่สามารถซื้อและขายเก็งกำไรในระยะสั้นๆได้ ปริมาณการซื้อขายรวมของตลาดก็น่าจะลดลงไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของที่เคยมี และเมื่อปริมาณการซื้อขายรวมลดลง ก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ลดปริมาณการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนกลุ่มอื่นๆตามมาอีกทอดหนึ่ง 

เพราะการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจะน้อยลงและที่สำคัญสภาพคล่องที่เป็นหัวใจสำคัญ ของตลาดหุ้นและเป็นข้อได้เปรียบของตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นของประเทศอื่นๆในภูมิภาคในปัจจุบัน ได้ถูกทำลายไปจากการใช้นโยบายการเก็บภาษีนี้ จนท้ายที่สุด อาจจะได้เห็นปริมาณการซื้อขายรวมเหลือเพียงแค่ 20,000 ถึง30,000 ล้านต่อวัน 

ดังนั้นรายได้ที่ภาครัฐคาดว่าจะจัดเก็บได้ปีละเป็นหมื่นล้านจากภาษีการขาย ยังไม่นับรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการซื้อขายหลักทรัพย์ที่จะลดลงไปด้วย จึงอาจเป็นรายได้ในจินตนาการเท่านั้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะกระทบเป็นลูกโซ่ต่อมาก็คือ การระดมทุนของบริษัททั้งที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯหรือการเพิ่มทุนเพื่อขยายธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนอยู่แล้ว ก็จะขาดประสิทธิภาพ เพราะปริมาณการซื้อขายที่เบาบางของตลาดจะทำให้นักลงทุนไม่ว่าชาติไหนก็ตาม ขาดความมั่นใจที่จะเข้าซื้อขายหุ้น เนื่องจากถ้าสถาพคล่องของตลาดไม่ดีพอ 

เวลาต้องการขายเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนโดยเฉพาะเวลาเกิดภาวะวิกฤติ ก็จะไม่สามารถทำได้โดยง่าย เสี่ยงต่อความเสียหายต่อเงินลงทุนของตัวเอง สุดท้ายทุกภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่หวังจะใช้เงินต้นทุนต่ำโดยการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นเพื่อขยายธุรกิจ ก็ไม่สามารถจะทำได้โดยง่ายเช่นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในระดับประเทศ 

ซึ่งยังไม่นับรวมความเสียหายที่จะเกิดกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการซื้อขายหุ้นต้องประสบกับภาวะขาดทุนจากการสูญเสียรายได้ที่เคยได้รับเพราะการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนที่ลดลง จนอาจต้องปิดกิจการ ส่งผลให้มีการเลิกจ้างพนักงาน กระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้และครอบครัวอีกทอดหนึ่ง

ดังนั้นขอเรียกร้องให้ทุกท่าน “ช่วยกันแสดงพลังคัดค้านการทำลายเศรษฐกิจชาติจากการเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ” ด้วยการช่วยกันลงชื่อคัดค้านในแคมเปญนี้

 

ที่มา Change.org