"เสี่ยป๋อง"ประเมินภาษีขายหุ้น กระทบวอลุ่มซื้อขาย-บวกต่อคนถือยาว

27 ธ.ค. 2564 | 03:27 น.

"เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง" นักลงทุนรายใหญ่ ประเมินการเก็บภาษีขายหุ้น กระทบวอลุ่มการซื้อขาย ยกกรณีตัวเอง อาจต้องเสียภาษีถึงปีละ 70 ล้านบาท ชี้ไม่ต่างกับเก็บค่าคอมฯเพิ่ม - โรบอทเทรดต้องปรับสูตรใหม่ แต่ส่งผลบวกต่อคนถือยาว นักลงทุนในตลาดอาจเก็บกำไรก่อนขายนานขึ้น

นายวัชระ แก้วสว่าง หรือ เสี่ยป๋อง นักลงทุนรายใหญ่  กล่าวในงานสัมมนาหลักสูตร “Digital Transformation for CEO #3” ถึงกระแสข่าวที่กระทรวงการคลัง มีนโยบายจะเก็บภาษีหุ้น ( Financial Transaction tax )  ซึ่งจะเก็บในทุกช็อตที่ขายนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ เพราะเปรียบเสมือนนักลงทุนถูกเก็บค่านายหน้าซื้อขาย (ค่าคอมมิชชั่น) เพิ่มขึ้น

 

แม้ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่ารัฐบาลจะเก็บจริงหรือไม่ หรือจะเก็บในอัตราที่เท่าไหร่ แต่หากเก็บภาษีขายหุ้นจริงตามที่ข่าวนำเสนอ 0.1% ต่อธุรกรรม 1 ล้านบาท ถือเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง อาทิ ตนซื้อขายหุ้นในปี 2564 ราว 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นขาซื้อ 7 หมื่นล้านบาท ขาขาย 7 หมื่นล้านบาท จะถูกเก็บภาษีแล้ว 70 ล้านบาทต่อปี
 

นอกจากนี้ คาดว่าการเก็บภาษีขายหุ้นจะกระทบต่อการซื้อขายของหุ่นยนต์ (โรบอทเทรด) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนราว 30% ของปริมาณการซื้อขายหุ้น (วอลุ่ม) ทั้งหมด โดยคาดว่าวอลุ่มของกลุ่มนี้จะลดน้อย หรือหายไปชั่วขณะ เพราะต้องปรับระบบ หรือปรับสูตรใหม่ ภายหลังต้นทุนการขายต่อครั้งเพิ่มขึ้น

 

แต่หากมองในมุมบวก คาดว่าภาษีขายหุ้นอาจส่งผลดีต่อนักลงทุนที่ถือหุ้นยาว เพราะที่ผ่านมาต้นทุนค่าคอมมิชชั่นถูก ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดสามารถซื้อขายหุ้นระยะสั้นได้ แต่หากเก็บภาษีขายหุ้น คาดว่าการเก็บกำไรอาจลดลง เพราะนักลงทุนอาจถือเพื่อเก็บกำไรยาวขึ้น


เช่น จากเดิมได้กำไร 2 ช่องแล้วจึงขายหุ้น หากมีภาษีขายหุ้นอาจถือรับกำไรเพิ่มเป็น 5 ช่อง เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลบวกให้กำไรในกระเป๋านักลงทุนเพิ่มขึ้นหากทุกคนคิดเหมือนกันหมด อย่างไรก็ดี พฤติกรรมคนส่วนใหญ่จะเป็นอย่างไรคงต้องพิจารณาเมื่อมีการนำมาใช้จริง
 

เสี่ยป๋อง เซียนหุ้นพันล้าน

 

เสี่ยป๋องวัชระ แก้วสว่าง ปัจจุบันอายุ 48 ปี  จบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาดมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) และปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ ( MBA)จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังจบใหม่ ๆ ได้ช่วยที่บ้านทำธุรกิจค้าขาย 

 

แต่เพราะคำว่า "อยากรวย" จึงผันตัวมาลงทุนในตลาดหุ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว  ในวัย 19 ปี ด้วยเงินลงทุนก้อนแรก 5 แสนบาท  และเริ่มสู่การเล่นหุ้นแบบfull time เมื่อปี 2542  เป็นนักลงทุนขาใหญ่สายเทคนิคเคิลระดับแนวหน้าของไทย  โดยเล่นหุ้นที่เน้นการอ่านกราฟเป็นหลัก  จนสามารถสร้างมูลค่าพอร์ตจากระดับ 200 ล้านบาทในปี 2554 เพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ “พันล้าน” เมื่อช่วงปี 2561-2562  ก่อนจะทยอยขายออกจำนวนมากในช่วงเศรษฐกิจและตลาดหุ้น เผชิญวิกฤติไวรัสโควิด-19