Carbon Credit หนุนธุรกิจไทยให้แข่งขันได้ระดับโลก

04 ธ.ค. 2564 | 14:05 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ Carbon Credit ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หนุนธุรกิจไทยให้แข่งขันได้ระดับโลก สร้างโอกาสการซื้อขายในทางธุรกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า  องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้จัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งเป็นกลไกที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศด้วยความสมัครใจ

 

อบก. จะให้การรับรองปริมาณการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจก (Carbon Credit) ผ่านโครงการด้าน

  1. การพัฒนาพลังงานทดแทน
  2. การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน
  3. การจัดการของเสีย
  4. การจัดการในภาคขนส่ง
  5. การเกษตร
  6. การปลูกป่า/ต้นไม้
  7. การอนุรักษ์หรือฟื้นฟูป่า

เจ้าของโครงการสามารถนำ Carbon Credit ที่ผ่านการรับรองดังกล่าวไปใช้ในการรายงานผลการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนขององค์กร หรือใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offsetting) ซึ่ง carbon credit ที่เหลือ ยังสามารถนำไปขายให้แก่ผู้ที่ต้องการ carbon credit เพิ่มได้

 

ณ กันยายน 2564 ไทยมีการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกไปแล้วทั้งสิ้น 14.4 ล้านตัน  CO2 เทียบเท่า จากจำนวน 80 โครงการที่ทำการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offsetting) และมี Carbon Credit ที่เหลือซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ จำนวน 5.5 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า 

ส่วนใหญ่อยู่ในโครงการประเภทการจัดการของเสีย 78.4% และการพัฒนาพลังงานทดแทน 19.1% อย่างไรก็ดี ไทยมีสัดส่วน Carbon Credit ที่เหลือต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองที่ค่อนข้างต่ำเพียง  37.9% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 52.2%

 

หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนแล้ว สัดส่วนของไทยสูงกว่ามาเลเซีย (0.8%) แต่น้อยกว่าประเทศฟิลิปปินส์ (54.5%) เวียดนาม (56.4%) และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่า 60%3  สะท้อนว่า ไทยอาจมีการซื้อหรือชดเชย Carbon Credit ของโครงการตนเองไปแล้วค่อนข้างสูง และมีความเสี่ยงที่ปริมาณ Carbon Credit สำรองจะไม่เพียงพอในการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจในอนาคต

 

เมื่อพิจารณาสัดส่วนปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองต่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาเซียนที่ 0.45%4  พบว่า ยังคงต่ำกว่าสัดส่วนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาเซียนเมื่อเทียบกับทั้งโลกที่ 1% ซึ่งอาจหมายความว่าปริมาณ carbon credit สำรองที่เหลืออยู่เป็นสัดส่วนสูงนั้น อาจไม่สะท้อนความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งที่เกิดขึ้นในอดีต และอาจยังคงไม่เพียงพอสำหรับอนาคต

 

ทั้งนี้การซื้อขาย carbon credit ในตลาดซื้อขาย carbon credit แบบสมัครใจทั่วโลกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 มีจำนวน 239.3 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่า 748.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายในภูมิภาคเอเชียจำนวน 91.8 ล้านตัน ตามด้วยภูมิภาคละตินอเมริกาและคาริบเบียน และแอฟริกา จำนวน 36.6 และ 23.9 ล้านตัน ตามลำดับ

 

ขณะที่ข้อมูลการซื้อขาย Carbon Credit ของไทยภายใต้โครงการ T-VER6  ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2557 ยังคงมีปริมาณการซื้อขายที่ค่อนข้างต่ำ เพียง 0.76 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 22 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ดี การซื้อขาย carbon credit ของไทย ผ่านโครงการ T-VER ยังคงเน้นการซื้อขายภายในประเทศเท่านั้น โดย อบก. ได้ดำเนินการรับประกันความน่าเชื่อถือของ carbon credit ของโครงการ T-VER ตามมาตรฐาน ISO 14064-2 และ ISO 14064-37  ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลว่า ด้วยหลักการ และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว

 

ทั้งนี้ อบก. อยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มหลักของประเทศสำหรับการซื้อขาย carbon credit (Thailand Carbon Credit Exchange Platform) โดยได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างระบบนิเวศน์สำหรับการใช้กลไกราคา นำไปสู่การลดต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศโดยรวมให้ต่ำที่สุด และมุ่งพัฒนาไปสู่การซื้อขายในระดับสากลต่อไปในอนาคต

 

ดังนั้น ถึงแม้ว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นโครงการแบบสมัครใจ และยังคงดำเนินการซื้อขาย carbon credit ได้ในวงจำกัด แต่ก็ถือเป็นโอกาสของธุรกิจในการปรับตัวและเตรียมความพร้อม เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หากมีการบังคับใช้มาตรการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก