ไทยพาณิชย์ติดปีก‘คริปโต’เดือนเศษอู้ฟู่ 7.4 หมื่นล้าน

05 พ.ย. 2564 | 09:20 น.

ไทยพาณิชย์ทะยานไม่หยุด หลังส่ง SCBS ซื้อ Bitkub ต่อยอด SCBx ดันมาร์เก็ตแคปพุ่ง 7.47 หมื่นล้านบาท กูรูเชื่อ win-win คู่ SCB ได้ของถูก เจ้าของ Bitkub ได้ exit ก่อน IPO

หลังประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ด้วยการปลดล็อกธุรกิจธนาคารสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือเทคคัมพานี ภายใต้ SCBx เพื่อเป็นยานแม่ในการลุยธุรกิจในโลกใหม่ 


กลุ่มไทยพาณิชย์ยังเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ของยานแม่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสร้างความฮือฮาด้วยการส่งบริษัทลูกอย่างบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัดหรือ SCBS เข้าซื้อหุ้นสามัญ
ในสัดส่วน 51% ในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub Online Co., Ltd.)
ผู้นำด้านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย (Digital Asset Exchange) จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (Bitkub Capital Group Holdings Co., Ltd.)

แค่เพียงเดือนกว่าๆ ของการขยับครั้งใหญ่ของกลุ่มไทยพาณิชย์ สร้างความมั่งคั่งให้กับกลุ่มผ่านมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) แล้ว 74,706.11 ล้านบาท จากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นที่ 109.50 บาทเมื่อวันที่ 22 กันยายนมาปิดการซื้อขายที่ 131.50 บาทเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เพิ่มขึ้นถึง 22 บาท หรือ 20.09%

ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น SCB

ขณะเดียวกันการยอมขายหุ้นในสัดส่วนถึง 51% ใน Bitkub Online ให้กับกลุ่มไทยพาณิชย์ด้วยมูลค่า 1.78 หมื่นล้านบาท ซึ่งเปรียบเสมือนการยอมสูญเสียความเป็นเจ้าของในธุรกิจสตาร์ทอัพที่ก่อร่างสร้างมากับมือของนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซีอีโอของ Bitkub ถือเป็นดีลที่ถูกมองว่า win-win เช่นกัน

นายชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกัน หรือบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) กับสตาร์ทอัพฟินเทคมีมานานแล้ว และเมื่อความร่วมมือจนเป็นที่พอใจ ก็จะเกิดการร่วมทุน แลกหุ้น หรือซื้อหุ้นเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งกรณีการเข้าซื้อหุ้น 51% มูลค่า 1.78 หมื่นล้านบาทใน Bitkub ของ SCBS ถือสมประโยชน์(wiw-win) ทั้ง 2 ฝ่าย

ไทยพาณิชย์ติดปีก‘คริปโต’เดือนเศษอู้ฟู่ 7.4 หมื่นล้าน


“SCBS ต้องการธุรกิจใหม่ๆ เข้ามารวมในยานแม่ SCBx ที่ประกาศมุ่งสู่เทคคัมพานี โดยฐานลูกค้า SCBS ส่วนใหญ่จะซื้อขายหุ้น เป็นกลุ่มสูงวัย ขณะที่ฐานลูกค้า Bitkub เป็น
กลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีอยู่กว่าล้านราย จากบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่ทั้งหมด 1.6 ล้านบัญชี หรือ คิดเป็นสัดส่วน 92% ของมูลค่าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย”นายชลเดชกล่าว

 

ดังนั้นการเข้าถือหุ้น Bitkub ของ SCBS ทำให้ได้ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาทันที โดยต่อไปลูกค้า Bitkub อาจได้รับข้อเสนอหรือบริการของกลุ่ม SCBx หรือ SCBS สร้างให้เกิดการข้ามผลิตภัณฑ์ Cross Sell นอกจากนี้ยังได้ธุรกิจที่จะกำไรถึง 2,000 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ ถือว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะจะมีค่า P/E Ratio(ราคาตลาดต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น) ประมาณ 17.5 เท่า สูงกว่าหุ้นเทคคัมพานี  แต่ถูกมากเมื่อเทียบกับหุ้นที่เติบโตสูง (Growth) จะมี P/E ถึง 50 เท่า


นอกจากนั้น ยังจะได้คน เทคโนโลยี และแพลตฟอร์มกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เข้ามาซึ่งต่อไปอาจเชื่อมต่อ หรือรวมแพลตฟอร์ม การซื้อขายหุ้น กับกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเข้าด้วยกัน โอนเงินเข้าออกผ่านโมบายแบงก์กิ้ง SCB Easy ขณะที่นายจิรายุส เองสามารถ Exit ได้ โดยไม่ต้องรอ IPO  และสัดส่วนหุ้นที่เหลือ 49% มูลค่าก็สามารถจะเติบโตขึ้นได้เมื่อมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง 

 

“ธุรกิจของกลุ่ม SCBx SCBS และ Bitkub ไม่มีอะไรทับซ้อนกัน การต่อจิ๊กซอร์ธุรกิจสามารถดำเนินการได้ทันที ไม่เหมือนการควบรวมกิจการแบงก์ ที่ใช้เวลานาน ส่วนผู้ถือหุ้น Bitkub อาจมองว่า เป็นจังหวะที่ดีในการขายหุ้นออกไป แม้ว่าจะถูกตั้งคำถามจากแฟนคลับว่า ก่อนหน้านี้ประกาศนำบริษัทเข้า IPO เนื่องจากปริมาณการเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านซื้อขายจุดสูงสุดมาแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่มีจำนวนคนเทรด5 แสนคน โดยขณะนี้โวลุ่มซื้อขายเริ่มลดลง และค่าธรรมเนียมได้จากการเทรดลดลง”นายชลเดช กล่าว

 

นายชลเดชยังได้วิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลว่า ผู้ให้บริการที่มีอยู่จะลำบากมากขึ้น เพราะนอกจาก Bitkub ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากสุด จะมีความแข็งแกร่งต่อไป จะมีผู้ให้บริการต่างประเทศเข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น เช่น Coin Base ซึ่งขณะนี้เริ่มขยายบริการไปยังอินเดีย ต่อไปอาจขยายเข้ามาในไทย หากมีปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะมองว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ทำให้นายจิรายุส สามารถสร้างธุรกิจ Bitkub ได้ง่ายๆ แค่เพียง 3 ปีก็สามารถปั้นรายได้สูงถึง 1.78 หมื่นล้านบาท แต่เส้นทางธุรกิจของนายจิรายุส ก็ใช่จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ อย่างที่เราทราบกันดีว่า จากเด็กเกเร ไม่ตั้งใจเรียนในวัยเด็กจนถูกส่งไปเรียนต่อในต่างประเทศพบเจออะไรมาบ้าง
 

แม้แต่ช่วงแรกๆของการเริ่มต้นธุรกิจ ก็เคยล้มและกดดันที่สุด เมื่อถูกหน่วยงานรัฐในประเทศตั้งข้อสงสัยเรื่องการฟอกเงิน แต่พอธุรกิจกำลังไปได้ดี กลับต้องเจอปัญหาระบบล่มในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังจากที่มีคนเข้ามาซื้อขายจำนวนมาก ซึ่งนายจรายุสเคยเล่าว่า ช่วงที่ถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)สอบ ทุกวันศุกร์จะไปเดินทางไปดอนเมือง เพื่อนั่งเครื่องบินไปที่ไหนก็ได้ เพื่อจะได้มีเวลาอยู่คนเดียว คิดคนเดียว เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น 

 

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเซีย พลัส จำกัดกล่าวว่า การเข้าหุ้นใน Bitkub คาดเป็นผลบวกต่อประมาณการกำไรสุทธิของ SCB ปี 2565 ประมาณ 3% หรือราว 1,000 ล้านบาท โดยประเมินจากรายได้ 9 เดือนแรกปี 2564 ของ Bitkub ที่ 3,300 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 1,500 ล้านบาท อีกทั้งภาพรวมอุตสาหกรรม Cryptocurrency ในไทยมีมูลค่าซื้อขายตามสภาวะตลาดตั้งแต่ 69,000-151,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่ง Bitkub ยังมีโอกาสในการเติบโต 

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเซีย พลัส จำกัด

 

นอกจากนั้น จากจุดเด่น Bitkub ที่เป็นแพลตฟอร์มไทย สามารถใช้เงินเฟียต(Fiat currency :สกุลเงินจริง)ในการซื้อขาย Cryptocurrency มองว่า Bitkub มีความคล่องตัว อีกทั้ง Bitkub มี Cryptocurrency ประมาณ 51 ประเภทให้ซื้อขาย เทียบกับทั้งหมดทั่วโลกที่มี 6,900 ประเภท เชื่อว่า บริษัทสามารถหาประเภท Cryptocurrency ที่เป็นจุดสนใจของนักลงทุน ทั้งในเชิงเก็งกำไรหรือ Cryptocurrency ที่มี smart contracts น่าสนใจ เข้ามาเสริมแพลตฟอร์ม รวมถึงช่วยเสริมฐานลูกค้าของทั้งคู่ ทั้งในเชิงของการ Asset Allocation เพื่อสร้างผลตอบแทนให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย

 

ขณะที่ ความเสี่ยงที่มีน้ำหนักต่อประมาณการปี 2565 ของ SCB คือ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลงต่ำกว่าคาด โดยทุกๆ 10 bps ของ NIM ที่ปรับตัวลดลงจากคาดการณ์ปี 2565 ที่ 3.11% จะทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิลดลงประมาณ 3% กำไรสุทธิลดลงประมาณ 6.6% และ FV ต่ำลงจาก 140 บาท ประมาณ 3 บาท

 

กรณีที่สินเชื่อเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายทุกๆ 1% ของคาดการณ์ จะทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิลดลง 0.5% กำไรสุทธิลดลง 0.7% ส่วน FV คงเดิม และกรณีที่คุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มแย่กว่าคาดทุกๆ 10 bps ของคาดการณ์ Credit Cost ที่เพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้ 180 bps จะทำให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 5.6% กำไรสุทธิลดลง 5.1% และ FV ต่ำลงจาก 140 บาท ประมาณ 2 บาท

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,729 วันที่ 7 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564