CIMBT คุมค่าใช้จ่าย ดันกำไร 9 เดือนโต 16.4%

21 ต.ค. 2564 | 11:01 น.

ซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT เผยกำไร 9 เดือน 1,708.2 ล้านบาท เพิ่ม 16.4% หลังคุมค่าใช้จ่ายดีขึ้น แม้รายได้จากการดำเนินงาน ลดลง 620.3 ล้านบาท จากสินเชื่อและธุรกิจเช้าซื้อลดลง ส่งผลรายได้ดอกเบี้ยลดลง

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 มีกำไรสุทธิ 1,708.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 240.6 ล้านบาท หรือ 16.4% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2563 สาเหตุหลักจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 12.3% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้นลดลง 6.0% ขณะที่รายได้จากการดำเนินงานลดลง 5.4%

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)

สำหรับรายได้จากการดำเนินงาน งวด 9 เดือนปี 2564  มีจำนวน 10,883.8 ล้านบาท ลดลง 620.3 ล้านบาท หรือ 5.4% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2563 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 783.6 ล้านบาท หรือ 9.4% จากรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้อลดลง เนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อลดลง

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 159.5 ล้านบาท หรือ 16.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าขายประกันและหน่วยลงทุน  และรายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้น 3.8 ล้านบาท หรือ 0.2% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน

              

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือนปี 2564 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2563 ลดลง 849.9 ล้านบาทหรือ 12.3% เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารด้านทรัพยากรบุคคลและการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2564 อยู่ที่ 55.7% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2563 อยู่ที่ 60.1%

ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวด 9 เดือนปี 2564     อยู่ที่ 3.1% ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2563 อยู่ที่ 3.3% เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้อ

 

อย่างไรก็ตาม ณ 30 กันยายน 2564 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 2.17 แสนล้านบาท ลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) 2.51 แสนล้านบาท ลดลง 0.2% จากสิ้นปี 2563 ซึ่งมี 2.51 แสนล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ลดลงเป็น 86.3% จาก 90.3% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563

 

ด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 9.6 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 4.4% ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ 4.6% สาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2564 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้

 

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 อยู่ที่105.9% เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ 93.3%  ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 9.4 พันล้านบาท เป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) 1.7 พันล้านบาท และเงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 กันยายน 2564 มี 5.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 20.7% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 15%