svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

ฟาดแรง! อดีตปลัดคลัง ชี้แก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบ “ผักชีโรยหน้า”

18 ตุลาคม 2564

“สมชัย”อดีตปลัดคลัง ชี้ อย่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบผักชีโรยหน้า แนะ ธปท. คิดนอกกรอบ พร้อมฟื้นบทบาทกองทุนหมู่บ้านแก้ปัญหาคนตกงาน ซัดรัฐบาลไม่เคยผิดวินัยการเงินการคลัง เหตุขยายเพดานหนี้ฯ ได้เรื่อยๆ ต้นเหตุทำ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หมดประสิทธิภาพ

นายสมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง  กล่าวในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “เพิ่มมุมคิด เติมมุมมอง ก้าวข้ามวิกฤต COVID-19” ในงานครบรอบวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการคลังปีที่ 60 โดยระบุว่า ยังมีความท้าทายอีกมากที่ภาครัฐ กระทรวงการคลัง และ สศค. ต้องเข้าใจ และหาทางแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่การแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ หรือ แบบผักชีโรยหน้า โดย 5 สิ่งที่อยากเห็น คือ

 

1.การแก้ปัญหาคนตกงานให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้งอย่างมั่นคง โดยระบุ การแจกเงินไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่การจะยิงนก เมื่อกระสุนออกไป 1 นัดต้องได้นกกลับมา 2 ตัว ไม่ใช่ 1 ตัว พร้อมแนะให้มีการแบ่งโซนสีของความรุนแรงของปัญหา ให้โอกาสท้องถิ่นเป็นผู้ออกมาตรการ มีการเชื่อมโยงกับกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ ควรฟื้นบทบาทของ “กองทุนหมู่บ้าน” ให้มีส่วนร่วมในการเสนอโครงการและการปล่อยสินเชื่อ  

2.การแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มหรือคนตัวเล็กกลับมาค้าขายได้เหมือนเดิมแบบนิวนอมัล ชี้นโยบานเสริมสภาพคล่องของกระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้ตาข่ายกรองรูใหญ่เกินไป ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กหลุด ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ บนเงื่อนไขที่ผ่อนปรนจริงหรือไม่ ขณะเดียวกันในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นพบว่าแบงก์พาณิชย์มีกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งแบงก์พาณิชย์ควรเข้ามามีบทบาทช่วย แต่มีการอ้างกฎเกณฑ์ของ ธปท. จึงต้องย้อนไปดูที่ ธปท. ว่าการทำนโยบาย ทำบนเครื่องมือใหม่ๆ ได้หรือไม่ ปรับนโยบายได้หรือไม่

 

“มองว่าที่ผ่านมา ธปท. ใช้นวัตกรรมใหม่ๆในการทำนโยบายน้อยมาก ดังนั้น นโยบายการเงินต้องปรับใหม่และนอกกรอบมากกว่านี้ เราเห็นปัญหาชัดเจน เราต้องยอมรับความจริง ขณะที่รัฐบาลไม่เคยทำผิดวินัยการเงินการคลัง เพราะเมื่อก่อหนี้เพิ่มและสุ่มเสี่ยงเกินเพดานหนี้สาธารณะ ก็ขยับเพดานหนี้ขึ้นเรื่อยๆ การทำแบบนี้ทำให้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังหมดประสิทธิภาพ การจะขยายหนี้ต้องมีแผนรองรับการลดหนี้ที่ชัดเจน” นายสมชัย กล่าว

 

3.การแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนภาคประชาชนให้ลดลงเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้นการออกมาตรการปรับโครงสร้าง ต้องมีมาตรการเสริมออกมาควบคู่ พร้อมแนะใช้ AO แก้ปัญหาความยากจนแบบรายคน ให้คำปรึกษาและติดตามผล ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบได้ผล และต้องร่วมมือกับผู้นำท้องถิ่นและต้องใช้ทรัพยากรบุคคลทั้งหมดที่มีเข้าไปช่วยแก้ปัญหา

4.การแก้ปัญหาความยากจนซ้ำซาก ซึ่งวิกฤตโควิดนี้กระทบอย่างมากต่อกลุ่มคนจน พร้อมระบุ กระทรวงคลัง และ สศค. กำลังใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ใชการใส่เงินเข้าไปแล้วจบ ซึ่งปรัชญาหลักของบัตรฯนี้มีขึ้นเพื่อทำให้คนถือบัตรลดลง ช่วยเปลี่ยนจากคนจนเป็นคนชั้นกลาง

 

การเพิ่มจำนวนบัตรฯมากขึ้น ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ หากในช่วง 3 ปีตั้งแต่มีบัตรฯ เกิดขึ้นในปี 60 และคนจนยังไม่ลดลง ต้องกลับมาแก้ที่ สศค. ต้องปรับเพิ่มมาตรการหรือนโยบายในการเข้าไปช่วยเหลือให้คนถือบัตรฯ หลุดจากการเป็นคนจน ฝาก สศค. ให้ปรับวิธีการ เพราะที่ทำตอนนี้ไม่ใช้วัตถุประสงค์ของบัตร”

 

 และ 5.การสร้างความสมดุลของรายได้ประเทศ โดยยังคงพึ่งพารายได้จากต่างประเทศ แต่ต้องสร้างความสมดุลหรือความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายในประเทศด้วย เช่น ด้านเกษตรอาหาร ด้านสุขภาพการแพทย์ ด้านการท่องเที่ยวที่ปรับมาเป็นการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ยังได้เน้นย้ำเรื่องการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ โดยระบุว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเป็นปัญหาที่โครงสร้าง เพราะในช่วงเศรษฐกิจดี รัฐบาลก็จัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ดังนั้น จึงไม่ควรบอกว่า เมื่อเศรษฐกิจดีแล้วจะทำให้การจัดเก็บภาษีมากขึ้น  ซึ่งจำเป็นที่ต้องปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ใหม่