โค้งท้ายปี แนะทยอยลงทุน รับลดหย่อนภาษี

15 ต.ค. 2564 | 04:19 น.

เปิดทางเลือกโค้งท้ายปี รับเทรนด์การลงทุนพร้อมลดหย่อนภาษี นายกสมาคมประกันชีวิตแนะลงทุน ในประกันชีวิตควบความคุ้มครองสุขภาพหรือบำนาญ ด้านนายกสมาคมประกันวินาศภัยมองบวก หลังเปิดประเทศกิจกรรมทางเศรษฐกิจไตรมาส4 หนุนกำลังซื้อกรมธรรม์ประหยัดภาษี

ปัจจัยกดดันตลาดเงินในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะสินทรัพย์เสี่ยงหรือสินทรัพย์ปลอดภัยล้วนปรับฐานลง จึงเป็นจังหวะวางแผนภาษีกันตั้งแต่เนิ่นๆ สำหรับผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่ 1.5 แสนบาทขึ้นไปที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เพียงกด ITax คำนวณภาษีแล้วทยอยสะสมการลงทุนได้

 

ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) รับสิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30% สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และหรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รับสิทธิลดหย่อนไม่เกิน 30% สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท หรือประกันบำนาญกับสิทธิลดหย่อนไม่เกิน 15% สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

 

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มของผลิตภัณฑ์ประกันประหยัดภาษีในไตรมาส 4 ปีนี้ เทรนด์หลักยังเป็นความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไปหรือแบบประกันบำบาญเฉพาะพิเศษ ได้สิทธิลดหย่อน 2 แสนบาท ส่วนประกันบำนาญความคุ้มครอง 10 ปีจะได้สิทธิลดหย่อนไม่เกิน 100,000 บาท โดยเฉพาะเมื่อซื้อความครอง 10 ปี ลูกค้าจะซื้อส่วนควบสุขภาพด้วย เพราะเทรนด์สุขภาพมาอยู่แล้ว แต่สิ้นปีจะมีเรื่องลดหย่อนภาษีเข้ามาด้วย

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย

ทั้งนี้ช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมา เบี้ยประกันรับรวมยังเติบโต 2.8% แต่จะเห็นเบี้ยต่ออายุของกรมธรรม์ที่ครบกำหนดแล้ว เข้ามากพอประมาณ แต่ยังไม่กระทบในแง่ของการจ่ายเบี้ยประกัน

 

“ผมคิดว่า เรื่องของภาษีหลายคนคุ้นเคย แต่คนที่ยังไม่เคยซื้อประกัน ก็อาจจะมองมีสิทธิลดหย่อนภาษีได้ นอกจากประกันชีวิตแล้วอยากให้มองความคุ้มครองสุขภาพด้วย เพราะเป็นประโยชน์ หัวหน้าครอบครัวเกิดความสบายใจและคุ้มครองโควิด-19 ด้วย” นายสาระกล่าว

ผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีโค้งท้ายปี 2564

สำหรับบมจ.เมืองไทยประกันชีวิต( MTL) พยามจะรักษาสมดุลทั้งเรื่องความคุ้มครอง การลงทุน สะสมทรัพย์ และยูนิตลิงก์ หากดูเบี้ยประกันใหม่ 8 เดือนแรกปีนี้เติบโต 20.2% ขณะที่เบี้ยใหม่ของระบบอยู่ที่ 6.5% ส่วนหนึ่งมาจากกรมธรรม์ที่ครบกำหนดแล้ว ส่วนใหญ่เป็นสะสมทรัพย์ ซึ่งแบบประกันจะสะท้อนสภาพแวดล้อมในมิติของดอกเบี้ยที่ต่ำ แต่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งการเติบโตและความยั่งยืน

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยกล่าวว่า แนวโน้มรายได้คนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น หลังทยอยเปิดประเทศ ซึ่งกิจกรรมเศรษฐกิจไตรมาส 4 น่าจะทำให้คนมีรายได้ดีกว่าไตรมาส 2,3 และเอื้อให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามสภาวะของเศรษฐกิจ รวมถึงการซื้อกรมธรรม์ประหยัดภาษีได้ ซึ่งจากการสอบถามหลายบริษัท ยังคงมีผลิตภัณฑ์เดิมที่นำเสนออยู่ในตลาด ขณะบริษัท เจนเนอราลี่ ประเทศไทย อยู่ระหว่างเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่กลางเดือนตุลาคมนี้ เชื่อว่า ตื่นเต้นแน่นอน

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัย

 

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษํัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย (TMBAM Eastspring) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ รายได้มนุษย์เงินเดือน โดยเฉพาะองค์กรขนาดกลาง ขนาดเล็กอาจกระทบบ้าง แต่ในแง่การลงทุนเพื่อประหยัดภาษีแนะนำให้ความสำคัญการเก็บเงินเพื่อการเกษียณระยะยาว(RMF) อย่าทิ้งและต้องเก็บสม่ำเสมอ

 

ส่วนการลงทุนระยะปานกลาง 10 ปี (SSF) หากมีปัญหารายได้สามารถพักได้ แต่กลุ่ม RMF แม้จะเป็นเงินลงทุนระยะยาว ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ต้องหมั่นตรวจสุขภาพพอร์ตการลงทุน และปรับพอร์ต กระจายพอร์ตลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. ทหารไทย (TMBAM Eastspring)

สำหรับTMBAM Eastspring เพิ่งออก RMF ลงทุนในหุ้นจีน ชื่อ TMBES Star Tech RMF เป็นกองลงทุนในเทคโนโลยีขนาดเล็กขนาดกลาง ซึ่งเทรนด์ใหม่ของอนาคต และหลบนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของจีน ลงทุนในหุ้นขนาดกลาง อาจจะกระทบพลังงานบ้าง

 

“ตลาดหุ้นจีนตกลงมาปีนี้กว่า 30% แล้ว แต่มีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจจีนยังเติบโตได้ แม้ช่วงเวลา 3-6 เดือนที่ผ่านมา จีนเผชิญปัญหาชั่วคราว เช่น การจัดระเบียบสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้สู่ประชาชน และปัญหาด้านพลังงาน” นายอดิศรกล่าว

 

บลจ.ยูโอบีกำลังเสนอ UNI-SSF ลงทุนในบริษัททั่วโลกที่เติบโตจากนวัตกรรม และ USUS-SSF ลงทุนในบริษัทที่รายได้ยั่งยืนและราคาเหมาะสม

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,722 วันที่ 14 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2564