“ลิสซิ่ง”กระอัก สคบ.คุมสัญญารถการเกษตร

13 ต.ค. 2564 | 04:55 น.

สคบ.เปิดเฮียริ่ง ร่างประกาศคุมสัญญาเช่าซื้อ ดึงเครื่องจักรกลการเกษตรเข้าร่วม เพิ่มเติมจากรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รอบประชาชน 20 ต.ค.นี้ ไฟแนนซ์-ผู้ประกอบการเครื่องจักรกลเกษตรโอด เพิ่มความเสี่ยงผู้ประกอบการ ต้องเข้มปล่อยกู้ หรือวางเงินดาวน์สูง

หลังประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ที่กำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ที่ 50 บาทต่องวด ซึ่่งมีผลในทางปฏิบัติไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ (ลิสซิ่ง) ยังต้องเจอกับแรงกดดันในการประกอบธุรกิจอีก เมื่อสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะเข้ามาคุมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยาน ยนต์ รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลเกษตร 

 

นายศุภกิตติ์ มะลิ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำหนังสือเวียนถึงนายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เรื่องขอเชิญเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ความเห็นประชาพิจารณ์ (เฮียริ่ง) ร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาพ.ศ. ... ในวันที่ 20 ตุลาคม 2564  เวลา 12.00-16.30 น.

 

แหล่งข่าววงการธุรกิจเช่าซื้อระบุว่า รอบนี้สคบ.แก้ไขร่างประกาศขนานใหญ่ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีเข้ามามีส่วนร่วมในการวางกรอบดูแลคณะกรรมการกำกับหนี้สินประชาชนรายย่อย ซึ่งจะเปิดเฮียร์ริ่งตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายน 2564 โดยในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ จะเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมรับฟังผ่านช่องทางออนไลน์

สาระสำคัญร่างประเทศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ

สำหรับร่างประกาศดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ประกอบกับมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่ง พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะสัญญา พ.ศ 2542 คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาออกประกาศไว้  โดยให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาพ. ศ.2561 และ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับ เมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

สาระสำคัญของร่างประกาศฯ มีการแก้ไขรายละเอียดราว 15 ข้อ หลักๆ เช่น กำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ 15%ต่อปี, ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ด้วยการส่งมอบรถยนต์ โดยห้ามเรียกเก็บหนี้ส่วนขาด (คืนรถจบหนี้ ห้ามเรียกหนี้ส่วนขาด), กรณีชำระค่าเช่าซื้อก่อนครบกำหนดสัญญาหรือ ปิดบัญชีค่าเช่าซื้อ จะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อไม่น้อยกว่า 80% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ หรือ ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกันอาจโอนสิทธิ์ให้บุคคลภายนอกซื้อรถคืนได้

 

กรณีที่ขายทอดตลาด จะต้องขยายเวลาเพิ่มเป็น 2 เดือนในการแจ้งลูกค้าก่อน จากเดิมใช้เวลา 3 สัปดาห์ ก็สามารถประมูลขายทรัพย์ได้แล้วที่เหลือเป็นรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งเป็นประเด็นกระทบผู้ประกอบการและไฟแนนซ์ไม่ว่า สภาอุตสาหกรรมยานยนต์ สมาคมเช่าซื้อไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซด์ หรือรถยนต์ใช้แล้ว (รถมือสอง)

ด้านผู้ประกอบธุรกิจตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรการเกษตรรายหนึ่งกล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาร่างประกาศของสคบ.ที่เพิ่งขยายการควบคุมสัญญากลุ่มรถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร จากเดิมที่สคบ.จะควบคุมสัญญารถยนต์และรถจักรยานยนต์ว่า จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไรบ้าง ซึ่งเบื้องต้นต้องปรับระบบและซอฟต์แวร์ เพื่อรองรับกระบวนการแจ้งลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษร เพิ่มส่วนคนและส่วนงาน ด้านจัดการทรัพย์สิน

 

“ผู้ประกอบธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรเท่าที่ทราบน่า จะมีประมาณ 5 ราย แต่ครอบคลุมประเภทรถและเครื่องจักรหลากหลาย หรือประเภทแรงม้า แต่ค่ายสยามคูโบต้า จะมีส่วนแบ่งการตลาดราว 80% ที่เหลือเช่น จอห์น เดียร์, ยันมาร์, อีซุซุ ลิสซิ่ง, นิวฮอลแลนด์, ฮิตาชิ”

 

ส่วนภาพรวมยอดขายต่อปีประมาณ 3-4 หมื่นหน่วย ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 4 แสนบาทไปจนถึงมากกว่า 1 ล้านบาท ปัจจุบันผู้ประกอบการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกอยู่แล้ว ถ้าร่างประกาศฯ ลงราชกิจจานุเบกษาปลายปี 2564 อาจจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาส 1 ปี 2565 ซึ่งเวลาเตรียมตัวรองรับระบบกระชั้นมาก

 

ผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซด์ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายรถมอเตอร์ไซด์และผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์จะมีความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว เพราะกลุ่มลูกค้าเพิ่งเรียนจบใหม่ หรือประกอบอาชีพอิสระ ส่วนใหญ่ไม่มีหนังสือรับรองเงินเดือน หากร่างประกาศมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการต้องมีวิธีตรวจสอบคุณภาพลูกค้ามากขึ้นหรือเพิ่มเงินดาวน์ หรือผ่อนชำระสูงกรณีวางเงินดาวน์ 0% เพื่อให้ครอบคลุมกับความเสี่ยง

 

ขณะเดียวกันการเปิดช่องคืนรถจบหนี้ ย่อมกระทบต่อต้นทุนแน่นอน เพราะผู้ประกอบธุรกิจใช้เงินกู้มาปล่อยกู้อีกทอด ซึ่งปกติรถทุกคันมีค่าเสื่อม 10-15% ตั้งแต่วันที่ออกจากโชว์รูมแล้ว ส่วนรถยนต์ใช้แล้ว (รถมือสอง) ก็ถูกกระทบเช่นเดียวกัน เพราะอายุของรถยนต์มากกว่า 10 ปีขึ้นไปย่อมมีค่าเสื่อมเพิ่ม

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,722 วันที่ 14 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2564