P2P เกิดแน่ ธปท.คาดปล่อยกู้ได้ไม่เกินต้นปี 65

11 ต.ค. 2564 | 09:05 น.

ธปท.คาดไม่เกินต้นปี 65 อนุมัติปล่อยกู้ “P2P” รายแรก ระบุ 3 รายที่ทดสอบใน Sandbox ปรับกระบวนการวิเคราะห์สินเชื่อรองรับความเสี่ยงของผู้กู้ที่เปลี่ยนไป เผยมี 6 รายใหม่อยู่ระหว่างหารือการจับคู่สินเชื่อที่มีและไม่มีหลักประกัน ทั้งให้กู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภค

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การทดสอบระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นตัวกลางสนับสนุนการกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านแพลตฟอร์ม (Peer to Peer Lending Platform :P2P) มีผู้ให้บริการที่ทดสอบภายใต้ Regulatory Sandbox ของธปท. 3 รายคือ บริษัท ดีพสปาร์คส์ เพียร์ เลนดิ้ง จำกัด บริษัท เนสติฟลายจำกัด และบริษัท เพียร์พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จำกัด

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ปัจจุบันทั้ง 3 ราย ยังอยู่ในขั้นตอนการประเมินผลการทดสอบการระบบงาน การรักษาความปลอดภัยและการให้บริการการตามรูปแบบธุรกิจของแต่ละบริษัท โดยบางบริษัทมีการขอปรับรูปแบบธุรกิจและพัฒนากระบวนการวิเคราะห์สินเชื่อ (credit model) ให้เหมาะสมกับสภาพตลาดและความต้องการของลูกค้าด้วย

ทั้งนี้ เมื่อผู้ให้บริการที่เข้าร่วมทดสอบประสบความสำเร็จในการทดสอบและมีความพร้อมให้บริการในวงกว้าง ธปท. จะเสนอกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อไป ซึ่งคาดว่า จะมีผู้ให้บริการบางรายที่ผ่านการทดสอบและให้บริการในวงกว้างได้ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

 

นอกจากนั้น ยังมีรายใหม่ที่ให้สนใจและอยู่ระหว่างหารือกับธปท.อีก 6 ราย  โดยรูปแบบธุรกิจที่นำเสนอมีความหลากหลาย โดยเป็นการจับคู่สินเชื่อทั้งที่มีและไม่มีหลักประกัน และมีวัตถุประสงค์การกู้ยืมมีทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และนำไปใช้ประกอบอาชีพหรือโครงการธุรกิจ

P2P เกิดแน่ ธปท.คาดปล่อยกู้ได้ไม่เกินต้นปี 65

“ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่พฤติกรรมของลูกค้าปรับเปลี่ยนไปสู่การทำธุรกรรมผ่านช่องทาง digital มากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวให้ทันกับความต้องการของลูกค้า”นางสาวสิริธิดากล่าว

ในส่วนธุรกรรม P2P lending platform เห็นการปรับ business model ให้รองรับกับพฤติกรรม ความต้องการ และความเสี่ยงของผู้กู้ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยยังคงวัตถุประสงค์หลักในการเป็นตัวกลางสนับสนุนให้เกิดการกู้ยืมระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้โดยตรง ช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกที่เข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้กู้ และเพิ่มทางเลือกในการลงทุนของผู้ให้กู้

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,721 วันที่ 10 - 13 ตุลาคม พ.ศ. 2564