ยาสูบฯ แจง พนง.ลาพักร้อน เครื่องจักรพัง เหตุผลิตบุหรี่ไม่ได้

08 ต.ค. 2564 | 12:00 น.

การยาสูบฯ แจงบุหรี่ขาดตลาด เหตุเครื่องจักรเสีย สายพานชำรุด คาดใช้เวลาซ่อม 1 สัปดาห์ เตรียมกลับมาขายใหม่พร้อมปรับขึ้นราคา ด้านสรรพสามิตส่งทีมตรวจร้านค้าส่ง หลังพบกักตุนไม่ส่งบุหรี่ให้ร้านค้าปลีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยาสูบแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า การยาสูบฯ ได้หยุดส่งบุหรี่ให้กับร้านค้าส่งตั้งแต่ 1 ต.ค.64 ที่ผ่านมา เนื่องจากระบบสายพานของเครื่องจักรชำรุด ประกอบกับเปิดให้พนักงานลาพักร้อน ทำให้ไม่สามารถผลิตบุหรี่ออกมาจำหน่ายและต้องหยุดส่งชั่วคราว และคาดว่าหลังจากนี้จะใช้เวลาซ่อมแซมเครื่องจักรอีกประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะกลับมาผลิต และจำหน่ายบุหรี่ได้อีกครั้งช่วง 15-16 ต.ค.นี้ พร้อมกับปรับขึ้นราคาแนะนำขายปลีกใหม่ด้วย

 

“ที่ผ่านมาการยาสูบฯ ได้จัดส่งบุหรี่ให้กับร้านค้าส่งเป็นปกติจนถึง 30 ก.ย.นี้ ซึ่งบุหรี่ทั้งหมดยังเป็นของราคาเก่าอยู่ ดังนั้นควรจะขายปลีกในราคาเดิม แต่หากเครื่องจักรซ่อมเสร็จและกลับมาผลิตได้ ก็จะเป็นบุหรี่ลอตใหม่และเสียภาษีในอัตราใหม่ ซึ่งราคาจะสูงขึ้นแน่ แต่จะแพงขึ้นซองเท่าไรยังไม่ทราบ ต้องรอการพิจารณาการแข่งขันด้านการตลาดก่อน แต่ราคาต้องขึ้นแน่นอนตามภาษีบุหรี่ใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้น”

ขณะที่นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่สรรพสามิต ลงพื้นที่สำรวจตลาดบุหรี่ และสอบถามผู้ค้าส่งที่รับซื้อบุหรี่มาจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าบุหรี่ เพื่อหาสาเหตุที่ไม่จัดส่งบุหรี่ให้ร้านค้าปลีก ส่งผลให้บุหรี่ขาดตลาดในช่วงนี้  ขณะเดียวกันจะประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อร่วมตรวจสอบกรณีการกักตุนสินค้าบุหรี่อีกทางหนึ่งด้วย

 

ส่วนบุหรี่ราคาใหม่ ตามโครงสร้างภาษีสรรพสามิตนั้น ขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตและผู้นำเข้ารายใด แจ้งมายังกรมสรรพสามิต เพื่อคำนวณต้นทุนและอัตราภาษีใหม่ โดยการยาสูบแห่งประเทศไทย ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการคำนวณและราคาขายปลีกใหม่  ส่วนบุหรี่นำเข้า ขณะนี้แจ้งการนำเข้ามาเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะส่งผลให้กรมสรรพสามิต พิจารณาต้นทุนเร็วๆนี้  เพื่อจะได้จำหน่ายในราคาขายปลีกใหม่ ตามโครงสร้างภาษีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. นี้เป็นต้นไป

สำหรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ได้ประกาศปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมากำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้า ให้เสียภาษีทั้งปริมาณและมูลค่า โดยให้บุหรี่ที่มีรายขายปลีกแนะนำไม่เกินซองละ 72 บาท จะเสียภาษีมูลค่าในอัตรา 25% และปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน ส่วนบุหรี่ราคาแนะนำซองละเกินกว่า 72 บาทขึ้นไป จะเสียภาษีมูลค่าในอัตรา 42% และตามปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน ซึ่งมีผลทำให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายได้แจ้งราคามายังสรรพสามิต  ทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่าราคาขายปลีกจะปรับขึ้นเท่านั้น ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์ อาจปรับขึ้นไม่เท่ากันตามกลยุทธ์การแข่งขันในตลาดบุหรี่