อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “ทรงตัว” ที่ระดับ 33.80 บาท/ดอลลาร์

08 ต.ค. 2564 | 00:41 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะเริ่มกลับมาแข็งค่ามากขึ้น หากตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น และ เงินดอลลาร์เริ่มอ่อนค่าลงหลังตลาดรับรู้รายงาน NFP เป็นไปตามที่ตลาดประเมิน

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.80 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า

 

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทโดยรวมจะยังคงผันผวนตามเงินดอลลาร์เป็นหลัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็อาจรอดูข้อมูล NFP ก่อน อย่างไรก็ดี เงินบาทมีโอกาสที่จะเริ่มกลับมาแข็งค่ามากขึ้น หากตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น และ เงินดอลลาร์เริ่มอ่อนค่าลงหลังตลาดรับรู้รายงาน NFP เป็นไปตามที่ตลาดประเมิน

 

นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยสุทธิมากขึ้น ตามแนวโน้มการเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโลก ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกทยอยเข้ามาขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ในช่วงใกล้ระดับ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ แนวต้านของเงินบาทอาจขยับลงมาอยู่ในโซน 33.85-33.90 บาทต่อดอลลาร์ และแนวต้านสำคัญยังคงเป็นโซน 34 บาทต่อดอลลาร์

 

ทั้งนี้ เรายังไม่ได้มองว่า เงินบาทจะกลับไปแข็งค่าหนัก เพราะปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวดีมากนักและโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังคงมีอยู่ ซึ่งเรามองว่าแนวรับของเงินบาทหากมีการแข็งค่าจะอยู่ในช่วง 33.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อาจเห็นผู้นำเข้าบางส่วน เข้ามาทยอยซื้อเงินดอลลาร์มากขึ้น (Buy on Dip)

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-33.90 บาท/ดอลลาร์  

 

 

ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง หลังจากผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความกังวลปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่ล่าสุด วุฒิสภาสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้ สู่ระดับราว 29 ล้านล้านดอลลาร์ ไปจนถึงช่วงต้นเดือนธันวาคม ลดความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ได้ในระยะสั้น นอกจากนี้ sentiment ในการตลาดเงินยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ลดลงสู่ระดับ 3.26 แสนราย ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ สะท้อนว่า โมเมนตัมการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ได้ช่วยให้ ตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ รีบาวด์กลับขึ้นมาปิดตลาดในแดนบวกได้ โดย ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq +1.05% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.83%

 

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 ก็ปรับตัวขึ้นกว่า +2.14% หลังผู้เล่นในตลาดคลายความกังวลวิกฤติพลังงานในฝั่งยุโป จากท่าทีของรัสเซียที่พร้อมจะช่วยสนับสนุนด้านพลังงานและทำให้ราคาแก๊สธรรมชาติทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นในฝั่งยุโรป ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มยานยนต์ Daimler +4.3%, Volkswagen +2.6%, กลุ่ม Tech ASML +3.5%, Adyen +2.0% รวมถึง กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Kering +3.2%, Louis Vuitton +2.1% 

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 5bps สู่ระดับ 1.58% ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมั่นใจว่า เฟดจะสามารถปรับลดคิวอีได้ในการประชุมเดือนพฤศจิการยน ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ น่าจะ priced-in รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls: NFP) ในวันนี้ ที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4 แสนตำแหน่ง ไปมากแล้ว ทำให้ NFP อาจไม่ได้มีผลต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ 10ปี มากนัก ซึ่งเรามองว่า ปัจจัยที่จะช่วยให้บอนด์ยีลด์ขยับขึ้นต่อเนื่อง อาจเป็นมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อทิศทางเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) รวมถึง บรรยากาศของตลาดการเงินโดยรวม ว่าจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องหรือไม่

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยการรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (NFP) ในวันนี้ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองเงินดอลลาร์ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้สู่ระดับ 94.20 จุด ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินดอลลาร์ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ข้อมูล NFP ซึ่ง เราคงมองว่า เงินดอลลาร์อาจปรับตัวอ่อนค่าลงได้ หาก NFP เพิ่มขึ้นตามคาด เนื่องจากตลาดได้ priced-in การลดคิวอีของเฟดไปมากแล้วและข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีขึ้นก็อาจช่วยหนุนให้ตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ลดความน่าสนใจของเงินดอลลาร์ลง

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะจับตาไฮไลท์สำคัญ คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน เพราะหากตลาดแรงงานฟื้นตัวกลับสู่ช่วงก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 เฟดก็จะมีความมั่นใจในการทยอยลดคิวอีมากขึ้น ซึ่ง ตลาดประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls: NFP) เดือนกันยายน อาจเพิ่มขึ้นกว่า 4.7 แสนราย แต่ถ้าหาก NFP ออกมาต่ำกว่า 2.4 แสนราย อาจส่งผลให้ เฟดยังไม่มั่นใจแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและอาจทำให้ การทยอยลดคิวอีจะเลื่อนไปจากเดือนพฤศจิกายน ที่ผู้เล่นในตลาดได้ priced-in การลดคิวอีในเดือนดังกล่าว

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะจับความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินจีนที่เริ่มกลับมาซื้อ-ขาย หลังจากช่วงหยุดยาว ทำให้ราคาสินทรัพย์ในฝั่งจีนอาจผันผวน ตามสถานการณ์ความเสี่ยงปัญหาหนี้ของ Evergrande รวมถึงบริษัทอสังหาฯ อื่นๆ ขณะเดียวกัน ตลาดก็อาจยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มการคุมเข้มภาคธุรกิจของจีน โดยเฉพาะในกลุ่มเทคฯ อยู่บ้าง นอกจากนี้ ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4.00% เช่นกัน เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อก็เริ่มลดลง หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มกลับสู่กรอบ 2-6% ของ RBI

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (กรอบการเคลื่อนไหวหลังเปิดตลาดอยู่ระหว่าง 33.79-33.86 บาทต่อดอลลาร์) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ 

โดยเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง หลังจากเงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงมากกว่าที่คาด และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น โดยบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีขยับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.59% แล้วในช่วงเช้านี้ ขณะที่วุฒิสภาสหรัฐฯ รับรองร่างข้อตกลงยกเพดานหนี้สหรัฐฯ ขึ้น 4.8 แสนล้านดอลลาร์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และส่งต่อให้สภาล่าง และปธน. โจไบเดน รับรอง ตามลำดับ

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.75-33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ ทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และเครื่องชี้ตลาดแรงงานอื่นๆ ในเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ