อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.83 บาท/ดอลลาร์

07 ต.ค. 2564 | 00:36 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงผันผวนตามเงินดอลลาร์ คาดแนวรับของเงินบาทหากมีการแข็งค่าจะอยู่ในช่วง 33.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อาจเห็นผู้นำเข้าบางส่วน เข้ามาทยอยซื้อเงินดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.83 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.92 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าสำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทโดยรวมจะยังคงผันผวนตามเงินดอลลาร์เป็นหลัก เนื่องจากฟันด์โฟลว์จากฝั่งนักลงทุนต่างชาตินั้นยังมีขนาดที่ไม่มากเท่าไหร่ เพราะนักลงทุนต่างชาติต่างก็รอบรรยากาศตลาดที่เป็นใจมากขึ้น ก่อนจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทย ซึ่งในช่วงก่อนประกาศข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ วันศุกร์ เรามองว่า หากตลาดการเงินในฝั่งเอเชียกลับมาเปิดรับความเสี่ยงตามตลาดฝั่งสหรัฐฯ ก็อาจพอช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่จะไม่ใช่การแข็งค่าไปมาก เพราะผู้เล่นในตลาดก็อาจรอดูข้อมูล NFP ก่อน โดยแนวรับของเงินบาทหากมีการแข็งค่าจะอยู่ในช่วง 33.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อาจเห็นผู้นำเข้าบางส่วน เข้ามาทยอยซื้อเงินดอลลาร์

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-33.90 บาท/ดอลลาร์

 

แม้ว่าตลาดการเงินโดยรวมจะเผชิญความผันผวนหนักในตอนแรก แต่ผู้เล่นในตลาดก็ทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จากปัจจัยหนุน อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นกว่า 5.7 แสนตำแหน่ง ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และช่วยให้ตลาดคลายความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงได้บ้าง

 

นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินยังได้รับแรงหนุน จากโอกาสที่สภาคองเกรสอาจบรรลุข้อตกลงเพื่อขยายเพดานหนี้ชั่วคราวไปอีกราว 2 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงขยายเพดาหนี้ได้ภายในวันที่ 18 ตุลาคม นี้ ขณะเดียวกัน ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อปรับตัวขึ้น จากภาวะขาดแคลนพลังงานก็เริ่มมีทิศทางคลี่คลายลงบ้าง หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงานทั้งน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ ต่างปรับตัวลดลง หลัง EIA ของสหรัฐฯ ประกาศยอดน้ำมันดิบคงคลังเพิ่มขึ้นกว่า 2.3 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดประเมินว่า ยอดน้ำมันดิบคงคลังจะปรับตัวลดลง ขณะเดียวกัน ทางฝั่งรัสเซียก็ประกาศพร้อมเข้ามาช่วยแก้วิกฤติขาดแคลนพลังงาน โดยเฉพาะแก๊สธรรมชาติ

 

ภาวะการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ได้ช่วยให้ ตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ รีบาวด์กลับขึ้นมาปิดตลาดในแดนบวกได้ โดย ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq +0.47% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.41%

 

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลดลงกว่า -1.30% จากแรงขายทำกำไรท่ามกลางความกังวลปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงแนวโน้มที่ธนาคารกลางอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็ว หากปัญหาเงินเฟ้ออยู่นานกว่าคาด ทำให้ หุ้นในกลุ่ม Cyclical ต่างปรับตัวลดลง อาทิ BMW -2.8%, Volkswagen -2.7%,  Amadeus -2.7%

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังคงรอรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการทยอยลดคิวอีของเฟด ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.53% ซึ่ง เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ มีโอกาสทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้ หากรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls: NFP) ในวันศุกร์นี้ ออกมาดีกว่าคาด และทำให้ตลาดเชื่อว่าเฟดอาจจะประกาศลดคิวอีได้ในเดือนหน้า ซึ่งก็มีโอกาสเป็นไปได้ หลังยอดการจ้างงานโดย ADP เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดไปมาก

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงเล็กน้อย สู่ระดับ 94.22 จุด  อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินดอลลาร์ยังคงผันผวนต่อในช่วงก่อนตลาดรับรู้ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (NFP) ในวันศุกร์นี้ ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจปรับตัวอ่อนค่าลงได้ หาก NFP เพิ่มขึ้นตามคาด เนื่องจากตลาดได้ priced-in การลดคิวอีของเฟดไปมากแล้ว และข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีขึ้นก็อาจช่วยหนุนให้ตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ลดความน่าสนใจของเงินดอลลาร์ลง

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะจับตาการเจรจาขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ หลังเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นว่า ทางฝั่งพรรคเดโมแครตอาจยอมรับข้อเสนอของฝั่งพรรครีพลับริกัน ในการขยายเพดาหนี้ชั่วคราวไปราว 2 เดือน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้ในระยะสั้น หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันให้ได้ภายในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ การขยายเวลาดังกล่าวอาจทำให้ พรรคเดโมแครตอาจเผชิญเกมส์การเมืองที่เข้มข้นในช่วงปลายปี ที่ต้องมีการพิจารณางบประมาณของภาครัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ Government Shutdown รวมถึงการพิจารณาขยายเพดานหนี้อีกรอบ