SCB CIO ชี้โควิดเดลต้า ฉุดการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

18 ส.ค. 2564 | 09:46 น.

SCB CIO ประเมินโควิดเดลต้า ซ้ำเติมการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เพิ่มความผันผวนในตลาดการเงินโลก แนะเน้นลงทุนหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป

SCB Chief Investment Office (CIO) วิเคราะห์ 3 ประเด็นหลักที่มีผลต่อแนวโน้มการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก (Global Asset Allocation) ประกอบด้วย

 

1)COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งสามารถติดได้ง่ายและทำให้วัคซีน โควิด-19 บางประเภทมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนๆ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มกลับมาสูงขึ้นในหลายประเทศ

 

2) การเปิดเมืองและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะมีความแตกต่างกันมากขึ้น (Uneven recovery) โดยประเทศที่มีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก เช่น สหรัฐฯ และยุโรป น่าจะสามารถหลีกเลี่ยงการกลับไปปิดเมืองแบบเข้มข้นได้ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีความคืบหน้าไม่มาก เช่นในกลุ่มประเทศ Emerging Markets (EMs) มีความเสี่ยงเรื่องการปิดเมืองเข้มข้นสูงกว่าอย่างมีนัย 

 

3) ความผันผวนสูงในตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากความกังวลผลกระทบ COVID-19 สายพันธุ์ Delta และประสิทธิภาพวัคซีนที่ลดลง รวมถึงความพยายามล่าสุดของทางการจีนในการจัดการ internet platform/digitized economy ทำให้ความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ภาครัฐ (regulatory risks) ในตลาดหุ้นจีนสูงขึ้นอย่างมีนัย 

 

SCB CIO ประเมินว่า  COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า จะเป็นปัจจัยซ้ำเติมทำให้การเปิดเมืองและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีลักษณะที่ไม่ทั่วถึงในแต่ละประเทศและภาคธุรกิจ  ซึ่ง COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า สามารถติดได้ง่ายและทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มกลับมาสูงขึ้นในหลายประเทศ

 

สำหรับแนวโน้มตลาดการเงินโลก SCB CIO ประเมินว่า การกลายพันธุ์ของ COVID-19 นำมาซึ่งความผันผวนสูงในตลาด  แต่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปยังคงแข็งแกร่ง  ส่วนอัตราผลตอบแทนแท้จริงของ US treasury ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการส่งสัญญาณ QE tapering จาก Fed

 สำหรับกลยุทธ์ในการจัดพอร์ตการลงทุนสินทรัพย์ทั่วโลก (Asset Allocation Portfolio Strategy) SCB CIO ยังคงมีมุมมองบวกต่อหุ้นสหรัฐฯและยุโรป  โดยปรับมุมมองตลาดหุ้นจีนและไทยลงเป็น Neutral  พร้อมทั้งปรับมุมมองต่อทองคำเป็น Neutral  เช่นกัน

 

• SCB CIO  มองว่า ในภาวะตลาดผันผวนจะมีโอกาสดีในการเข้ามาสะสมหุ้นสหรัฐฯและยุโรปที่ยังมีผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องและน่าจะได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองค่อนข้างจำกัด เรายังคงมุมมองตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ Neutral จากการฟื้นตัวที่ช้ากว่าตลาด Developed Markets (DMs) อื่น

 

• SCB CIO ปรับมุมมองหุ้นจีนลงเป็น Neutral จากความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ภาครัฐ (Regulatory risk) ที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยเน้นตลาด A-share ซึ่งน่าจะมีความเสี่ยงด้านนี้น้อยกว่า เนื่องจาก มีหุ้นในกลุ่ม internet platform/digitized economy น้อยกว่าในตลาดหุ้น H-share

 

•ในตลาดหุ้น  ASEAN เรายังคงชอบเวียดนามที่สุดจาก valuation ที่ยังคงถูกที่สุด ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ยังแข็งแกร่ง และความคืบหน้าในการนำเข้าวัคซีนที่ค่อนข้างดี แต่ปรับมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยลงเป็น Neutral จากความยืดเยื้อของการระบาด COVID-19 และการใช้มาตรการปิดเมือง รวมถึงสภาวะ technical recession ในอุปสงค์ภายในประเทศของภาคเอกชน ที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้น

 

•ด้วยอัตราผลตอบแทนแท้จริงของ US treasury ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ความผันผวนในตลาดหุ้นสูงขึ้น รวมถึงราคาทองคำที่ปรับลดลงล่าสุด เราปรับมุมมองต่อทองคำเป็น Neutral   และปรับน้ำมันลงเป็น Slightly Negative จากปัจจัยอุปสงค์ที่น่าจะได้รับแรงกดดันจากการเปิดเมืองที่ช้ากว่าคาด รวมถึงความตึงตัวน้อยลงของปัจจัยอุปทานน้ำมัน

 

•SCB CIO มีมุมมองต่อ DMs และ Asian REITs เป็น Neutral จากผลกระทบของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า และความเสี่ยงการเปิดเมืองที่ล่าช้ากว่าคาด