อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.33 บาท/ดอลลาร์

16 ส.ค. 2564 | 00:25 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทในระยะสั้นมองแนวต้านใกล้ 33.50 บาท/ดอลลาร์ ส่วนแนวรับใกล้โซน 33.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้นำเข้าอาจทยอยเข้ามาแลกเงินดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.33 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  ที่ระดับ 33.37 บาทต่อดอลลาร์มองกรอบสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.10-33.60 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.45 บาท/ดอลลาร์

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาการระบาดของ Delta ในสหรัฐฯ เริ่มกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภค และส่งผลให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงในท้ายสัปดาห์

 

สำหรับสัปดาห์นี้ ควรจับตาการฟื้นตัวเศรษฐกิจเอเชีย รวมถึง ไทย และ ติดตาม ทิศทางนโยบายการเงินเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟด โดยเฉพาะประธานเฟด Powell

 

ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด หลังปัญหาการระบาด Delta ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนอาจเริ่มส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ ดังจะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม ปรับตัวลดลงมากกว่าคาด ซึ่ง ตลาดมองว่า ปัญหาการระบาดอาจกดดันภาคการผลิตสหรัฐฯ เช่นกัน โดยดัชนีภาวการณ์ผลิตอุตสาหกรรมโดยเฟดนิวยอร์ก (NY Empire Manufacturing) ในเดือนสิงหาคม อาจลดลงสู่ระดับ 28.5 จุด สะท้อนถึงการขยายตัวในอัตราชะลอลง ขณะที่ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม อาจหดตัวราว -0.2% จากเดือนก่อนหน้า จากทั้งปัญหาการระบาด รวมถึงระดับราคาสินค้าที่เร่งตัวสูงขึ้น ตามการทยอยเปิดเมือง นอกจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด Powell (วันพุธ) ถึงมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ หลังสหรัฐฯ เผชิญการระบาดของ Delta และมุมมองต่อการทยอยลดคิวอีของเฟด ซึ่งท่าทีสนับสนุนการทยอยลดคิวอีภายในปีนี้ของประธานเฟด สามารถหนุนให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้

 

ฝั่งยุโรป – ตลาดประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของชาวอังกฤษมากนัก โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) อาจโตถึง +5.8%y/y ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งการฟื้นตัวต่อเนื่องของการบริโภคนั้นหนุนโดยการเดินหน้าเปิดประเทศ ไปพร้อมกับเร่งคุมสถานการณ์การระบาด ผ่านการเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก และ การเร่งแจกจ่ายวัคซีนประสิทธิภาพสูง

 

ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจกลับมาขยายตัวได้ราว +0.1% จากไตรมาสก่อนหน้า (หรือคิดเป็น +0.5% เมื่อเทียบรายปี) หนุนโดยการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการส่งออกและการกลับมาลงทุนมากขึ้นของภาคเอกชน ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงถูกดดันจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 แต่โดยรวมก็เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังญี่ปุ่นมีการเร่งแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งตลาดมองว่า ทั้งปีเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจโตได้กว่า 2.8% ส่วนในฝั่งจีน ปัญหาการระบาดของ Delta อาจกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้จากการเติบโตในอัตราที่ชะลอลงของยอดค้าปลีก (Retail Sales) +10%y/y เช่นเดียวกันกับ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) รวมถึง ยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) ที่จะโตลดลงเหลือ +7.9% และ +11% ตามลำดับ นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ เรามองว่าบรรดาธนาคารกลางในเอเชียจะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยในสัปดาห์นี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับ 3.50% เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังอินโดนีเซียเผชิญการระบาดที่หนักในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) อาจเป็นธนาคารกลางแรกในเอเชียที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% แต่อาจส่งสัญญาณพร้อมปรับดอกเบี้ยขึ้น หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

 

ฝั่งไทย – แม้ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 อาจพลิกกลับมาขยายตัวกว่า +5.0%y/y จากที่หดตัวถึง -2.6%y/y ในไตรมาสแรก แต่ปัจจัยหลัก คือ ระดับฐานต่ำในปีก่อนหน้า กอปรกับภาคการส่งออกสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เรามองว่า ปัญหาการระบาด COVID-19 ที่ยืดเยื้อจะกดดันให้การบริโภคในประเทศซบเซาหนัก และอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกได้ ทำให้ มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะกลับมาหดตัวในไตรมาสที่ 3 และ ทั้งปี เศรษฐกิจไทย อาจหดตัวได้ หากสถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้นและยืดเยื้อเกินกว่าไตรมาส 3

 

 

แนวโน้มของค่าเงินบาท ปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทยังคงเป็น แนวโน้มเงินดอลลาร์ และ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทยที่ยังคงทวีความรุนแรงต่อเนื่องโดยสำหรับแนวโน้มเงินดอลลาร์ เรามองว่า ในระยะสั้น ปัญหาการระบาดของ Delta ในสหรัฐฯ อาจกดดันเงินดอลลาร์ได้ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยออกมาแย่ลงเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังคงมีแรงหนุนอยู่ หากบรรดาเจ้าหน้าเฟดออกมาสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในปีนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

ส่วนในฝั่งเงินบาท เราคงมองว่า โซนแนวต้านใกล้ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ยังเป็นระดับที่เงินบาทอ่อนค่าไปถึงได้ในระยะสั้น ท่ามกลางปัญหาการระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ นักลงทุนต่างชาติพร้อมจะขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม ส่วนแนวรับเงินบาทยังอยู่ใกล้โซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่เรามองว่า บรรดาผู้นำเข้าอาจทยอยเข้ามาแลกเงินดอลลาร์ (Buy on Dip)

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.10-33.60 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.45 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ เงินบาทยังมีทิศทางที่อ่อนค่า โดยเช้าวันนี้ (16 ส.ค.) ปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าตามสัญญาณขายสินทรัพย์เสี่ยงในฝั่งเอเชียและจังหวะการอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียบางส่วน หลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนก.ค. ที่ประกาศออกมาเช้านี้มีทิศทางอ่อนแอ ประกอบกับในไทยยังมีสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.25-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบด้วย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กในเดือน ส.ค.