โควิด-19 ดันผู้ยื่นแบบเสียภาษีเพิ่มกว่าแสนราย

07 ส.ค. 2564 | 04:24 น.

ร้านค้า “คนละครึ่ง” หวั่นโดนภาษี ขึ้นป้ายงดรับสแกนจ่ายเงิน สศค.แจงมีเพียงหลักสิบรายเท่านั้น ระบุหากไม่สะดวกสามารถขอออกจากโครงการได้ ด้านสรรพากรรับปีภาษี 63 มีผู้ยื่นแบบเพิ่มกว่า 1 แสนราย ย้ำเสียภาษีเป็นหน้าที่ทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบร้านค้า เช่น ร้านขายยา ร้านค้าเบ็ดเตล็ด ขึ้นป้ายงดรับสแกนจ่าย โครงการ “คนละครึ่ง” เพราะกลัวจะต้องเสียภาษีหลังยอดขายเพิ่มขึ้น

 

ต่อประเด็นดังกล่าว นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า มีร้านค้าแจ้งขอถอนตัวจากโครงการรัฐเพียงหลักสิบร้านค้าเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ระบุเหตุผลชัดเจน แต่เชื่อว่า มีหลายสาเหตุ เช่น อาจเป็นแผงลอยที่ไม่ได้ค้าขายแล้ว ซึ่งร้านค้าไม่สะดวกเข้าร่วมโครงการ ก็สามารถหยุดรับชำระเงินได้

กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

 

“การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีรายได้เพื่อใช้เป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งหรือไม่ โดยหากร้านค้าเป็นบุคคลธรรมดามีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นประจำทุกปีหากมีรายได้ตามเกณฑ์”นางสาวกุลยากล่าว

 

ทั้งนี้ การยื่นแบบเสียภาษีจะสามารถหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ร้านค้าจึงควรมีการทำบัญชีและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเพื่อมีหลักฐานเพื่อใช้ในการคำนวณการเสียภาษี ซึ่งร้านค้าที่มียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีภาษี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับสรรพากรด้วย ซึ่งกรมสรรพากรมีระบบการตรวจสอบภาษีตามปกติอยู่แล้ว ร้านค้าที่ดำเนินการถูกต้องจึงไม่ต้องกังวลในประเด็นการเข้าร่วมโครงการหรือไม่

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรกล่าวว่า  การยื่นแบบรายได้ของผู้ค้า 40(8) จะไม่ได้ระบุแยกประเภทการค้าขายว่า มาจากออนไลน์หรือเข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งในปีภาษี 2563 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ยื่นแบบภาษีเข้ามาเพิ่มขึ้นหลักแสนราย ซึ่งมองว่า มาจากการที่กรมสรรพากรส่งจดหมายแจ้งเตือนให้ยื่นแบบภาษี เมื่อมีรายได้เข้าเกณฑ์ที่ระบุ

 

“ในการคำนวนภาษี กรมสรรพากรใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ ไม่ได้เน้นว่า เข้าร่วมโครงการรัฐหรือไม่ ซึ่งต่อให้ไม่มีโครงการรัฐ ก็สามารถตรวจสอบข้อมูลได้อยู่แล้ว จึงขอให้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการรัฐอย่ากังวล เพราะฐานข้อมูลของกรม ยังไม่ได้แยกว่ารายได้ที่เกิดขึ้นมาจากการขายออนไลน์หรือการค้าขายในโครงการของรัฐ” นางสมหมายกล่าว

สมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าไม่ว่าจะค้าขายหาบเร่แผงลอย ขายก๋วยเตี๋ยว หากรายได้เกิน 60,000 บาท/ปี มีหน้าที่ ต้องยื่นแบบแสดงเงินได้ 40(2) ถึง(8) ส่วนจะต้องเสียภาษีหรือไม่ ขึ้นกับการคำนวนหักค่าใช้จ่าย ซึ่งรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงและเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการค้าขาย เช่น ค่าอุปกรณ์ วัตถุดิบ ค่าเช่าที่ ค่าจ้างคนงาน และมีหลักฐาน เช่น ใบเสร็จ สามารถใช้ในการหักลดหย่อนได้ โดยแจ้งรายการลดหย่อน ไม่ต้องแนบใบเสร็จขณะที่ยื่น แต่ให้เตรียมพร้อมไว้กรณีกรมสรรพากรขอเรียกเอกสารเพิ่มเติม

 

 

ยกตัวอย่าง มีรายได้ไม่ถึง 150,000 บาท/ปี ก็ไม่ต้องชำระภาษี แต่หากเกิน จะไปคูณอัตราตามขั้นบันได เช่น สมมุติมีเงินได้ 300,000 บาท ก็จะเอา 5% คูณด้วย 150,000 บาท เท่ากับจะเสียภาษีในอัตราสูงสุด 7,500 บาท ซึ่งยังสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหรือต้นทุนมาหักลดหย่อน เพื่อลบกับเงินได้ ก่อนนำไปคำนวนเป็นภาษีเงินได้ต่อไป

 

สำหรับการยื่นภาษีของพ่อค้าแม่ค้า กำหนดให้ยื่น 2 ครั้งต่อปี รอบแรกนำรายได้ช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน ยื่นภายในวันที่ 30 กันยายน หากยื่นทางอินเตอร์เน็ตจะขยายระยะเวลาให้ยื่นออกไปอีก 8 วัน และรอบ 2 คือ นำรายได้ทั้งปีไปยื่นแบบภายใน 30 มีนาคมปีถัดไป

 

“การเสียภาษีถือเป็นหน้าที่ของคนไทย เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ผ่านระบบสวัสดิการ ระบบสาธารณูปโภค ซึ่งการคำนวนภาษีเงินได้และการหักลดหย่อน ยังมีอีกหลายวิธี ซึ่งอาจทำให้การเสียภาษีตกเฉลี่ยเพียงวันละ 10 บาทเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับกำไรหรือรายได้จากการค้าขายที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย หรือจากโครงการของรัฐบาลแล้ว อาจพูดได้ว่า ได้คุ้มมากกว่าเสีย”นางสมหมายกล่าว

 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,703 วันที่ 8 - 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564