กรุงไทยไพรเวทเวลธ์ชู 4 กลยุทธ์สร้างเชื่อมั่น

01 ส.ค. 2564 | 01:00 น.

กรุงไทยไพรเวทเวลธ์ ชู 4 กลยุทธ์สร้างเชื่อมั่น หวังยกระดับความมั่งคั่งดูแลกันยาวนาน เน้นฐานลูกค้ากรุงไทย ที่มี AUM ขั้นต่ำ 100 ล้านบาท แนะ 5 กองทุนครึ่งปีหลัง

นายวิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่าย Private Wealth Management ธนาคาร กรุงไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดไพรเวทเวลธ์ ปัจจุบันมีความต้องการที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าบุคคลที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ขั้นต่ำ 100 ล้านบาท ซึ่งพบว่า จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นหลายหมื่นรายในตลาด

วิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่าย Private Wealth Management ธนาคาร กรุงไทย

 

ทีม “กรุงไทยไพรเวทเวลธ์” จึงดีไซน์ฟีเจอร์หรือโปรดักต์ให้ลิ้งค์กับรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเภทตราสารหนี้ หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงหรือ Sturctured note ในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะกับความต้องการของลูกค้าได้

 

“ทีมกรุงไทยไพรเวทเวลธ์ เป็นบริการลูกค้าบุคคลที่มี AUM ขั้นต่ำ 100 ล้านบาท โดยจะเริ่มให้บริการจากฐานลูกค้าของธนาคาร กรุงไทย ซึ่งมีศักยภาพอยู่แล้วโดยแยกออกมาจากกลุ่มกรุงไทย Precious และกรุงไทย Precious Plus” นายวิริยะชัย กล่าว

ขณะนี้ตลาดเวลธ์เมืองไทย ทุกสถาบันการเงินหันมาให้บริการลูกค้า ซึ่งแข่งขันกันด้วยบริการเป็นหลัก ที่สำคัญลูกค้ากลุ่มเวลธ์ส่วนใหญ่เลือกใช้บริการหลายสถาบันการเงินไขว้กัน เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้าและต้องดูแลกันไปยาวนาน

 

ทั้งนี้ นโยบายดูแลลูกค้ากรุงไทยไพรเวทเวลธ์ เน้นหลักการ4 กลยุทธ์ ในการจัดพอร์ตการลงทุนสำหรับลูกค้าคือ 1. พอร์ตการลงทุนที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน  2.สร้างรายได้ในรูปแบบเงินปันผลหรือดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ 3. มีสภาพคล่องที่เพียงพอ 4. เน้นให้ลูกค้าลงทุนในสิ่งที่ลูกค้าเข้าใจเท่านั้น

 

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับความถี่ในการปรับพอร์ตช่วงโควิด โดยทบทวนทุกเดือน ซึ่งปกติจะแบ่งพอร์ตเป็น 2 ส่วนคือ พอร์ตหลักลงทุนเกิน 1 ปี และพอร์ตระยะสั้น มีความยืดหยุ่นเพื่อให้เจ้าของพอร์ตมีความคล่องตัวในการจับตลาดช่วงสั้นได้

กองทุนที่แนะนำลงทุนในครึ่งปีหลังคือ 1.TMB Global Quality Growth Fund 2. Krungsri Global Healthcare Equity Hedged FX Fund 3. KTAM World Financial Services Fund 4. Krungsri Europe Equity Hedged Fund และ5. KTAM China Bond Fund 

 

นอกจากนั้นคือ หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือ เทรนด์หลักของโลก  โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน (Global warming) อาทิ  หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน พลังงาน  เฮลแคร์ โดยโฟกัสตลาดสหรัฐ ยุโรป และหุ้นกู้เอกชนในจีน(China Bond Fund) ผลตอบแทนเฉลี่ย 5%

 

"การจัดพอร์ตความเสี่ยงระดับกลางให้น้ำหนักลงทุนในหุ้น  44% ตราสารหนี้ทั่วโลก 33% อสังหา 5% และเงินสด 18% เพื่อรอจังหวะช้อปช่วงสั้น"นายวิริยะชัยกล่าว 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,701 วันที่ 1- 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564